KBANK ชี้โอกาสลงทุน “เฮลท์แคร์” ผ่านกอง K-GHEALTH รองรับนวัตกรรมทางแพทย์

KBANK แนะกองทุน “K-GHEALTH” ชี้โอกาสลงทุนเฮลท์แคร์ รองรับนวัตกรรมทางแพทย์ เป็นโอกาสเติบโตระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะตลาดลงทุนอยู่ภายใต้ความผันผวน


นางสาวศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director  Financial Advisory Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ในวันนี้ทุกคนได้ตระหนักว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขด้วยสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งนวัตกรรมหรือความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับ KBank Private Banking ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน จึงมองหาความเชื่อมโยงของการดูแลรักษาสุขภาพไปสู่โอกาสการลงทุน และพบว่า Healthcare Investment หรือ การลงทุนในกลุ่มเฮลท์แคร์ ผ่านกองทุน K-GHEALTH เป็นโอกาสการลงทุนที่ดีในระยะยาวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ตลาดลงทุนอยู่ภายใต้ความผันผวน

โดยกองทุน K-GHEALTH เน้นลงทุนในหุ้นทางการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. Pharma – ยา ที่มีการพัฒนาให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุดหรือที่เรียกว่า Precision Medicine รวมไปถึงพัฒนาให้ใช้งานได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เช่น ในปัจจุบันมีการพัฒนาให้อินซูลินอยู่ในรูปแบบเม็ด
  2. Biotech การนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาช่วยในการวินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและรักษาไปจนถึงระดับพันธุกรรม เช่น การรักษาโรคมะเร็งและโรคหัวใจ การพัฒนายาที่ป้องกันการเกิดหัวใจล้มเหลว ด้วยการเข้าไปสร้างกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
  3. Medical Tech เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัด การใช้ AI ช่วยประมวลผลข้อมูลทางการแพทย์ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลมาใช้ในการวินิจฉัย เพิ่มความรวดเร็วและรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที
  4. Healthcare Services การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขในราคาที่เหมาะสม เช่น ระบบประกันสุขภาพที่มีบริษัทในเครือข่ายมาก ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ ศ.นพ. มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โควิด-19 ช่วยพิสูจน์ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ และการดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้เราสามารถต่อสู้กับโรคระบาดได้ ตั้งแต่การวินิจฉัย การพยายามในการหาวิธีในการรักษา การป้องกัน รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานในห่วงโซ่อุปทานของระบบการดูแลสุขภาพทั้งหมด

นอกจากนี้ โควิด 19 ยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้เราต้องใช้เทคโนโลยี จากนี้ไปผู้คนจะเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะช่วยดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น พร้อมชี้ให้เห็นถึง 8 นวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะเป็นเทรนด์แห่งอนาคต คือ Telemedicine ที่เร่งตัวขึ้นจากโควิด 19 ช่วยให้คนไข้ไม่ต้องเดินทางไม่ต้องมารอพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันสามารถส่งต่อข้อมูลจากอุปกรณ์อย่าง สมาร์ท วอชที่บอกข้อมูลสุขภาพให้แพทย์พิจารณาและปรับการรักษาได้ ในปี 2563 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 27 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 3.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 135 ล้านล้านบาท

สำหรับในปี 2570 AI, Machine Learning และ Big Data ปัจจุบันข้อมูลทางการแพทย์อยู่ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น สามารถใช้ AI ช่วยวินิจฉัย คัดกรอง รวมถึงช่วยแพทย์ตัดสินใจในการรักษาได้ดีขึ้น เช่น นำ AI มาใช้ในการวินิจฉัยคนไข้ที่เป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ซึ่งช่วยร่นเวลาในการวินิจฉัยจากที่ใช้เวลา 15-30 นาที ให้เหลือเพียง 3 นาทีเท่านั้น

ทั้งนี้ Internet of Medical Things  AR / VR และ sensors อุปกรณ์สวมใส่และอุปกรณ์เชื่อมต่อทางการแพทย์ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ดูแลรักษาสุขภาพ เช่น ใช้ AR / VR เฝ้าสังเกตอาการคนไข้ และทำการรักษาแบบ on-site ไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล เซ็นเซอร์ติดแขนที่วัดระดับน้ำตาลในเลือดได้ตลอด 24 ชม. หรือ เซ็นเซอร์ติดที่ยา ทำให้รู้ว่าคนไข้ทานยาครบและตรงตามเวลาที่กำหนดหรือไม่ ในปี 2563 หรือ 30% ของตลาด IoT มาจากผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพ และคาดว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าสูงถึง 6.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 211 ล้านล้านบาท

โดย Medical Automation and Robotics การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดอวัยวะขนาดเล็กที่มีความละเอียดอ่อน เช่น มือ หู ตา หรือ สมอง การนำหุ่นยนต์มาใช้งานหลังบ้าน ช่วยลดข้อผิดพลาดและเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ โดยคาดว่าในปี 2569 จะมีมูลค่าตลาดที่ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 13.6 ล้านล้านบาท

ด้าน 3D Bio-Printing การนำเทคโนโลยี 3D Printing มาใช้ในการพิมพ์โครงสร้างของกระดูกเพื่อให้เซลล์กระดูกสามารถเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นกระดูกได้จริงๆ โดยสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะได้ โดยคาดว่าในปี 70 จะมีมูลค่าตลาดที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ Gene Editing ด้วยเทคโนโลยี CRISPR จากโรคที่เราไม่คิดว่าจะรักษาได้ สามารถตัดต่อยีนโดยการนำส่งระบบ CRISPR เข้าไปเพื่อแก้ไขความผิดปกติในตัวคนไข้ได้ เช่น ในคนไข้ที่มีไขมันในเลือดสูงมากและยาก็ไม่สามารถรักษาได้ จึงรักษาด้วยการใช้การนำส่งระบบ CRISPR เข้าไปเพื่อแก้ไขความผิดปกติของยีน เพื่อลดระดับคอเลสเตอรอล คาดว่าในปี 2569 จะมีมูลค่าตลาดที่ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 13.6 ล้านล้านบาท

สำหรับ Predictive and Preventive Medicine องค์ความรู้ด้านการถอดรหัสพันธุกรรมทำได้รวดเร็วมากขึ้นและราคาถูกลงอย่างมหาศาล จึงแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วนของการดูแลรักษาสุขภาพ ในอนาคตอันใกล้ มีความเป็นไปได้ว่าเด็กทุกคนที่เกิดใหม่จะมีข้อมูลรหัสพันธุกรรม ทำให้เราเข้าใจ ความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดโรค และหาวิธีป้องกันได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการช่วยลดต้นทุนการดูแลสุขภาพลง

รวมทั้ง Genomic / Precision Medicine การแพทย์แม่นยำที่นำองค์ความรู้ด้านการถอดรหัสพันธุกรรมมาใช้ในการรักษาโรค เพื่อที่จะได้รู้ว่าความผิดปกติเกิดขึ้นจากตรงไหน ควรใช้วิธีการรักษาอย่างไร เพื่อให้ผลการรักษาได้ผลดีที่สุด ปัจจุบันการแพทย์แม่นยำขยายตัวอย่างมากในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ด้าน นายโทมัส แบรดลี่ย์-ฟลานนาแกน ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน  JP Morgan Asset Management International Equity Group กล่าวว่า ปี 2565 นับเป็นปีแห่งความผันผวน จากทั้งเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงความกังวลในเรื่องคอขวดห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นในหลายภูมิภาคและหลายๆ อุตสาหกรรม กลุ่มเฮลท์แคร์เองก็หนีไม่พ้น ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปในอดีต ในช่วงที่เงินเฟ้อมีการปรับตัวขึ้นแรงๆ จะพบว่ากลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด

ขณะที่กลุ่มเฮลท์แคร์มีผลการดำเนินการดีตามมาเป็นอันดับ 2 เราจึงมองว่ากลุ่มเฮลท์แคร์ยังเป็นกลุ่มที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้ แม้ในช่วงที่เงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี เรามองว่าไม่ใช่ว่าทุกหมวดในกลุ่มเฮลท์แคร์จะมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยเราได้ปรับกลยุทธ์ลงทุน และเลือกกลุ่มที่จะเข้าลงทุนให้เหมาะสม โดยมีสัดส่วนเมื่อเทียบกับดัชนี MSCI World Healthcare ดังนี้

นอกจากนี้ Overweight ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้น กลุ่ม Biotech ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง ทำให้มูลค่าหุ้นมีความน่าสนใจ ให้เน้นบริษัทที่มีนวัตกรรมโดดเด่น มีคุณภาพ และโอกาสเติบโตในระยะยาว และกลุ่ม Healthcare Services เน้นลงทุนในกลุ่มประกันสุขภาพมากกว่าโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มที่ Underweight หรือรักษาระดับหรือลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Pharma ไม่ได้มีการปรับลด โดยยังคงสัดส่วนที่มากที่สุดในพอร์ต เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มั่นคงไม่ผันผวนไปตามสภาพเศรษฐกิจ และกลุ่ม Medical tech มีการปรับลด หุ้นขนาดใหญ่ในบางบริษัท ที่มูลค่าหุ้นสูง

ทั้งนี้ ถ้ามองลึกลงไปในหมวดหมู่ของการดูแลรักษาสุขภาพ ทุกคนมองว่ามีอีกหลายหมวดหมู่ย่อยที่มีความแข็งแกร่งและราคายังไม่สูงมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยาที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ บริษัทไบโอเทคโนโลยีที่เป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการควบรวมหรือการเข้าซื้อกิจการ  สุดท้ายนี้มองว่าเฮลท์แคร์ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอัตราที่ดี และยังคงมีนวัตกรรมที่จะปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ยังคงน่าสนใจและเป็นโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวต่อไปได้” นางสาวศิริพร กล่าว

Back to top button