สภาเดือด! ฝ่ายค้านตีตกแก้ ม.256 – ชวน ยันวินิจฉัยสุจริต ขีดเส้นจบ 24 มิ.ย.

บรรยากาศวันแรกของการประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รธน. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย สอบถามถึงกรณีการตีตกญัตติแก้ ม.256  ขณะที่ประธานสภา “ชวน หลีกภัย” ยืนยัน วินิจฉัยอย่างสุจริต -ยึดหลักกฏหมายเดิม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 23 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภามีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม รวม 13 ฉบับ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐเสนอ 1 ฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ

ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้หารือถึงเหตุผลที่ไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย เรื่องการตั้งส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากฝ่ายรัฐสภา เห็นว่า ญัตติดังกล่าวเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา ขอให้ทบทวนความเห็นและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุ หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทำประชามติก่อน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ห้ามทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่การยื่นแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ เป็นเพียงกระบวนการจัดทำการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องรองรับไปสู่การทำรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น หากรัฐสภาเห็นชอบก็ให้จัดทำประชามติต่อไป รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ถูกยกเลิก แต่การไม่บรรจุญัตติเท่ากับห้ามแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสิ้นเชิง ไม่อยากให้ตีความเกินคำวินิจฉัย ขอให้ทบทวน การไปยึดติดคำวินิจฉัยจนสมาชิกทำหน้าที่ไม่ได้ ขอให้เป็นหน้าที่สมาชิกวินิจฉัย ไม่ใช่ประธานวินิจฉัยเอง

ขณะที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ความคืบหน้าของภาคประชาชนที่กำลังรณรงค์โครงการขอคนละชื่อรื้อระบบอประยุทธ์ ล่าชื่อประชาชนได้ 40,000 กว่าคนแล้ว ใกล้ครบ 50,000 ชื่อเสียดายที่ร่างที่ถูกเสนอโดยประชาชน ไม่ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณา หากสามารถรวมร่างทั้งหมดมาพิจารณาได้ จะช่วยประหยัดงบ และเกิดภาพสง่างามการรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน แต่ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวถ้ายุบสภาแล้วอาจแก้รัฐธรรมนูญไม่ทัน อยากถามว่า ถ้าภาคประชาชนล่าชื่อครบ 50,000คน โดยที่การพิจารณาแก้รัฐธรรม นูญครั้งนี้ ยังไม่จบวาระ3 ร่างของภาคประชาชนจะถูกพิจารณาอย่างไร

ด้าน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า กระบวนการพิจารณาญัตติ จะมีเจ้าหน้าที่รัฐสภาดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องผ่านฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายรัฐสภา ยกเว้นเรื่องสำคัญจะมีที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายช่วยพิจารณา ญัตติดังกล่าวนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่า บรรจุไม่ได้จึงส่งให้ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายรัฐสภาช่วยพิจารณาก็มีความเห็นตรงกันว่า บรรจุไม่ได้ จากนั้นส่งมาให้ตนพิจารณา ตนก็พิจารณาด้วยความรอบคอบ เหตุที่ไม่บรรจุญัตติดังกล่าว เพราะมีมาตรา15/1 เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จากการตรวจดูพบว่า หลักการและเหตุผลของญัตตินี้ มีสาระสำคัญเหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไปแล้วว่า มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี2560 และให้ไปทำประชามติก่อนว่า ประชาชนประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ดังนั้นจึงมีความเห็นไม่บรรจุ ถ้าบรรจุแสดงว่าไม่ยอมรับคำวินิจฉัย ยืนยัน 2ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครมาสั่งประธานได้ นายกฯไม่เคยมายุ่ง ขอให้มั่นใจว่า การวินิจฉัยเป็นไปด้วยความสุจริต ยึดมั่นกฎหมาย ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ส่วนร่างภาคประชาชน ถ้าส่งมาเมื่อใด ก็จะพิจารณาและบรรจุให้ทันที ไม่มีลับลมคมใน ถ้าไปท้าทายคำวินิจฉัย ด้วยการบรรจุญัตติ ก็เท่ากับตนทำผิดรัฐธรรมนูญ

หลังจากนั้นเวลา 10.55 น.ที่ประชุมได้เริ่มพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงหลักการและเหตุผล

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการประชุม ประธานรัฐสภาให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะรวมทั้ง 13 ญัตติเข้ามาพิจารณา เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ นายชวน ระบุว่า ก็คงพิจารณาไปพร้อมกัน คือให้เสนอไปทีละฉบับ แต่ว่าจะไปลงมติแยกในวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.) ซึ่งเวลาลงมติก็จะลงแยก แต่จะมีการถามทีละฉบับ โดยคำนวณเวลาที่ใช้ในการลงมติอาจจะหลายชั่วโมง

ส่วนถ้ามีข้อเสนอในช่วงสุดท้ายให้ตั้งคณะกรรมาธิการชุดเดียว เรื่องนี้ต้องแล้วแต่สมาชิกจะเป็นคนเสนอใช่หรือไม่ ประธานรัฐสภา ตอบว่า เรื่องนี้จะเป็นไปตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ การพิจารณาได้กำหนดเวลาไว้ฝ่ายละ 6 ชั่วโมง และลงมติในวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งเขาก็จะมีการเฉลี่ยกันว่าแต่ละพรรคใช้เวลาเท่าไร.

Back to top button