จับตา CPF พุ่งแรง! รับราคา “สุกร” จีนกระฉูด หลัง ASF ระบาดฉุดเนื้อหมูขาดแคลน

จับตา CPF วิ่งแรง! รับราคา “สุกร” ในจีนพุ่งกระฉูดแตะ 19 หยวน/กิโลกรัม หลัง ASF ระบาดหนักให้เกิดภาวะหมูขาดแคลน และต้องนำเข้าหมูจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหมูเป็นในประเทศจีนขยับขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากราคา 12 หยวนต่อกิโลกรัม ขึ้นมาเป็น 13 หยวนต่อกิโลกรัม และพุ่งขึ้นเป็นกว่า 17 หยวนต่อกิโลกรัมในวันจันทร์ของสัปดาห์นี้ ส่งผลให้ราคาซื้อขายล่วงหน้าในเดือนกันยายน 64 ของหมูเป็นในตลาดจีนขยับไปถึง 19 หยวนต่อกิโลกรัม

โดยจากประเด็นดังกล่าวนี้ ส่งผลให้บรรดาหุ้นธุรกิจสุกรของจีนขึ้นยกแผงถึงกว่า 3% ไม่ว่าจะเป็น Aonong Bio, Muyuan, Wen’s Food Group และ New Hope

ทั้งนี้ หลังโรคระบาด ASF (African Swine Fever) ในปี 2561 ที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ปริมาณหมูของจีนหายไปจากระบบมากกว่า 10 ล้านตัว ทำให้เกิดภาวะหมูขาดแคลน และต้องนำเข้าหมูจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการผลิตสุกรของจีนค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยกระทรวงเกษตรฯของจีนระบุว่า ผลผลิตเนื้อสุกรในไตรมาสแรกปี 2564 อยู่ที่ 13.7 ล้านตัน  ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อปริมาณสุกรในประเทศจีน ถ้าโรคระบาด ASF สงบลงอย่างแท้จริง  แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อ ASF ยังคงมีการระบาดอยู่ ก็ทำให้เกิดความตระหนกแก่เกษตรกรชาวจีน เร่งขายหมูออกมาก่อนเวลา

รวมถึงแม่พันธุ์ขนาดใหญ่จำนวนมาก ถูกส่งเข้าสู่โรงชำแหละด้วย ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปีนี้ ราคาหมูเป็นของจีนร่วงลงถึง 65% ราคาที่ตกต่ำดังกล่าว กระทบผลกำไรของเกษตรกร ทำให้บางส่วนเริ่มชะลอหมูเข้าเลี้ยง ซึ่งจะก่อให้เกิดการขาดแคลนเนื้อหมูในอนาคต

ด้านคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) เห็นระดับราคาที่ตกต่ำมากเกินไป จึงออกมาตรการพยุงราคาทำให้ราคาหมูเป็นของจีนดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับต่ำสุดในรอบสองปีเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าและเป็นที่มาของราคาที่สูงขึ้นของหุ้นในธุรกิจหมูทุกตัว

ทั้งนี้ หากย้อนกลับมาดูหมูในบ้านเรา มีสถานการณ์และความเป็นไปไม่ต่างจากจีนนัก แม้โรค PRRS ที่กำลังเผชิญอยู่ จะไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับ ASF แต่ความกังวลของเกษตรกรไทยก็ไม่น้อยไปกว่ากัน เราจึงได้เห็นการเทขายหมูที่ยังมีน้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ ได้เห็นการชำแหละแม่พันธุ์ ซึ่งอาจหมายถึงการเลิกอาชีพ เพราะต้นทุนการป้องกันโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์นั้นไม่น้อย รวมถึงได้เห็นเกษตรกรหลายรายชะลอหมูเข้าเลี้ยงเช่นเดียวกับจีน ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้หมูเป็นของไทยมีราคาผันผวน

โดยแม้รัฐบาลไทยจะไม่ได้พยุงราคาเนื้อหมูช่วยเกษตรกรอย่างที่จีนทำ แต่ขณะนี้ราคาหมูไทยเริ่มขยับตัวสูงขึ้นตามหลักอุปสงค์อุปทาน ด้วยปริมาณหมูในระบบที่ลดลง รวมถึงเกษตรกรรายเล็กที่มีการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถปรับตัวกับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ค่อยๆหายไป ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำธุรกิจครบวงจรและสามารถบริหารจัดการวัตถุดิบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเท่านั้น ที่จะยังสามารถรักษาอัตรากำไรได้ ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับจีนเช่นกัน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าจับตาว่า หุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเนื้อหมูในประเทศไทย อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จะปรับตัวขึ้นแรงสอดรับกับกระแสข่าวดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ขณะที่ก่อนหน้านี้ CPF ได้เข้าซื้อกิจการสุกรในประเทศจีน คิดเป็นมูลค่า 4.1 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท

Back to top button