JMT ลั่นผลงานโตปีละ 30% รุกขยายพอร์ตสินเชื่อ ดันกำไรปี 67 แตะ 4.5 พันลบ.

JMT คาดไตรมาส 2 ผลการดำเนินงานทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง พร้อมมั่นใจดันกำไรโตปีละ 30% พร้อมเดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่อง ดันกำไรปี 67 แตะ 4.5 พันลบ.


นายปิยะ พงษ์อัชฌา กรรมการ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า บริษัทมั่นใจว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2567) จะมีการเติบโตทุกปี ปีละ 30% และคาดว่าในปี 2567 จะมีกำไรแตะระดับ 4.5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2/64 บริษัทคาดแนวโน้มกำไรสุทธิจะทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) รายไตรมาส หรือจะเติบโตเพิ่มเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 และมากกว่าไตรมาส 1/2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทสามารถเก็บหนี้ได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการซื้อหนี้ที่ต่อเนื่องมาโดยตลอด ตั้งแต่ต้นปีบริษัทซื้อหนี้ได้มากที่สุดในกลุ่มบริหารสินทรัพย์ (AMC) ขณะที่ในไตรมาส 1/2564 บริษัทเก็บหนี้ได้ประมาณ 1 พันล้านบาท ส่วนไตรมาส 2/2564 ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2564

ขณะที่การใช้งบซื้อหนี้เข้ามาเพิ่มในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2564) อยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีพอร์ตบริหารหนี้คงค้างรวมกว่า 2.2 แสนล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังคงแผนงบลงทุนสำหรับการซื้อหนี้ไว้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2565 ตั้งเป้าหมายซื้อหนี้อีก 1.5 หมื่นล้านบาท และปี 2566 อีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

“ครึ่งหลังของปีนี้จะมีหนี้เข้ามาในระบบมากขึ้น โดยหนี้ที่บริษัทซื้อ ได้แก่ สินเชื่อบุคคล รถยนต์ ที่อยู่อาศัย ซึ่งบริษัทจะดูข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หากดูหนี้ NPL ที่ตกลงมาในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จะอยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท อีกอย่างที่ดูคือหนี้ที่โอเวอร์ดีล 1-2 งวด กำลังจะเข้า Stage 3 ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท ดังนั้นซัพพลายในตลาดจึงค่อนข้างมาก และบริษัทมีความสามารถที่จะเข้าไปซื้อได้” นายปิยะ กล่าว

โดยในปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนหนี้ที่มีหลักประกัน 5% และอีก 95% ไม่มีหลักประกัน

นายปิยะ กล่าวเพิ่มว่า ในสถานการณ์ของโควิด-19 ไม่ได้มีนัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบกับบริษัท เนื่องจากลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นรายย่อย โดยบริษัทมีลูกค้าประมาณ 4 ล้านราย เป็นยอดเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาท ลูกค้าจึงสามารถมาเจรจาและปรับโครงสร้างหนี้กับบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทได้ร่วมมือกับภาครัฐ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรมบังคับคดี เชื้อเชิญลูกค้าเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ ดังนั้นด้วยนโยบายการผ่อนปรนจึงทำให้ลูกค้าเข้ามาหาบริษัทมากขึ้น

“อาจจะมีปัญหาบ้างในช่วงเดือนเมษายน ที่บริษัทมีการเก็บเงินได้ลดลง แต่ก็สามารถบริหารให้กลับมาได้ในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน โดยบริษัทได้ปรับมาใช้แอปพลิเคชันที่พัฒนาจากบริษัทในกลุ่ม ทำให้ลูกค้าอยู่ที่บ้านและสามารถทำธุรกรรมกับทางบริษัทได้โดยไม่ต้องเดินทางมาหากัน ซึ่งผลตอบรับดีมาก” นายปิยะ กล่าว

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งคือ บริษัทช่วยลูกค้ารีไฟแนนซ์กลุ่มที่อยู่อาศัย โดยลูกค้าที่มีประวัติจ่ายดีต่อเนื่อง ทางบริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด หรือ KBJ (บริษัทร่วมทุนระหว่าง KB Kookmin Card สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของเกาหลีกับ บมจ.เจมาร์ท-JMART) จะช่วยลูกค้าด้วยการให้วงเงินกับ JMT เพื่อไปรีไฟแนนซ์ลูกค้าแล้วให้ไปผ่อนกับ KBJ ได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้จะมีหนี้เข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 โดยลูกค้า 100% ยังคงจ่ายหนี้ได้ต่อเนื่อง 70% และอีก 30% จะทยอยไหลลงมา ขณะที่สถาบันการเงินมีแต่จะเพิ่มเป้าหมายในการให้สินเชื่อ ดังนั้น NPL จะขยับตามไปด้วย

“ในส่วนของกำไรที่ทำนิวไฮต่อเนื่องนั้น บริษัทมีกำไรนิวไฮมาตลอดระยะเวลา 3 ปีในทุกไตรมาส ส่วนไตรมาส 4/2563 มาถึงไตรมาส 1/2564 ที่ลดลง เนื่องจากปีที่ผ่านมาเก็บหนี้ได้มากกว่า ดังนั้นที่เก็บเกินมาก็จะบันทึกส่วนเกินในไตรมาส 4 ทำให้ผลรวมของไตรมาส 4/2563 ออกมาที่ 330 ล้านบาท ปีนี้ก็จะเป็นลักษณะเช่นเดียวกัน คือ ไตรมาส 1/2564 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะเติบโตขึ้น ขณะที่ไตรมาส 2 จะเติบโตกว่าไตรมาส 1 และไตรมาส 3 ไตรมาส 4 จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ” นายปิยะ กล่าว

นายปิยะ กล่าวถึงเรื่องของเหรียญดิจิทัลนั้น ในกลุ่มก็มีการทำเหรียญดิจิทัลเป็น Utility Token โดยบริษัททำให้มีประโยชน์กับลูกค้า เช่น หากลูกค้ามีการจ่ายหนี้ตรงบริษัทจะแจกเหรียญทุก ๆ 3,000 บาท ดังนั้นคริปโทฯ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำประโยชน์ให้กับลูกค้า และทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะจ่ายหนี้

Back to top button