สภา มธ. จ่อนำเข้า “โนวาแวกซ์” ปีหน้า เพิ่มวัคซีนทางเลือก คุมโควิด-19

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เล็งนำเข้าวัคซีน “โนวาแวกซ์-m-RNA เจนเนอร์เรชั่น 2” เพิ่มวัคซีนทางเลือกให้ประชาชน เปิดกว้างโรงเรียนแพทย์-โรงพยาบาลเอกชน ร่วมด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันที่ 17 สิงหาคม 2564 รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แถลงชี้แจงถึงการประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์เพื่อรับมือการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ว่า การออกประกาศดังกล่าว สืบเนื่องจาก ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯเห็นถึงปัญหาความต้องการวัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ในภาวะวิกฤต ที่ไม่เพียงพอกับความต้องการทางโรงพยาบาลจึงได้มีความคิดออกข้อบังคับดังกล่าวขึ้นมา เพื่อช่วยเป็นทางเลือกในการจัดหา ผลิต จำหน่าย นำเข้า และขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์

โดยทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีความสนใจนำเข้าวัคซีน ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับการนำเข้าของหน่วยงานอื่น ทั้งของรัฐ องค์การเภสัชกรรม และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเป็นวัคซีนเจนเนอร์ชั่น 2 เพื่อบูสเตอร์โดสให้ประชาชน ในรูปแบบวัคซีนทางเลือก

เบื้องต้นมีความสนใจโปรตีนซัปยูนิตของโนวาแวกซ์ รวมถึงวัคซีน m-RNA เจนเนอร์เรชั่น 2 อย่างโมเดิร์นนา

ทั้งนี้ทางธรรมศาสตร์ยังต้องหาผู้ร่วมสนับสนุนด้วยโดยเปิดกว้างทั้งเครือข่าย โรงเรียนแพทย์ ราชวิทยาลัย สมาคม รวมถึงกลุ่มเครือข่าย โรงพยาบาลเอกชน โดยคาดว่าจะสามารถนำเข้าได้ในปี 2565

การออกมาครั้งนี้จะปลดล็อกสิ่งที่เป็นปัญหาเรื่องวัคซีน รวมทั้งยาต่างๆ โดยคาดหวังว่าปีหน้าจะสามารถจัดหาวัคซีนได้ และคาดว่าจะจัดหาวัคซีนประเภทโปรตีนซับยูนิต แต่วัคซีนนั้นเปลี่ยนแปลงทุกวัน ก็ต้องคอยติดตามอย่างต่อเนื่อง” รศ.นพ.พฤหัส กล่าว

ขณะเดียวกัน รศ.นพ.พฤหัส ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ยังมีความสนใจเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่าง ATK ที่ต้องการมาช่วยสนับสนุนในภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและมีราคาถูก เบื้องต้นมีความประสงค์ให้ ATK ถูกอย่างน้อย 45 – 50 บาท เพื่อใช้ตรวจได้จำนวนหลายครั้ง เนื่องจากคุณสมบัติของ ATK ไม่ได้ไวเท่า RT-PCR จึงต้องมีราคาถูกเพื่อใช้ตรวจหลายครั้ง ส่วนเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ คาดว่าการนำเข้าและเริ่มกระบวนการผลิตเองขององค์การเภสัชกรรมเพียงพอแล้ว พร้อมยืนยันการดำเนินการของธรรมศาสตร์ไม่ได้ต้องการแสวงหาผลกำไร และมองว่าการออกข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนี้จะช่วยอุดช่องโหว่ของภาครัฐ และสร้างการเข้าถึงยาเวชภัณฑ์ให้ประชาชน แต่หากทุกมหาวิทยาลัยต่างออกประกาศข้อบังคับ ก็จะทำให้สมดุลหรืออำนาจต่อรองในการสั่งซื้อน้อยลง

ในขณะนี้ยังไม่ได้มีหน่วยงานใดเสนอตัวเข้ามาเป็นพาร์เนอร์ทันที มีเพียงการเจรจาพูดคุยกัน หากมีความชัดเจนเรื่องวัคซีนจึงจะมีการตกลงกันอีกครั้ง เพราะเบื้องต้นมองว่าการนำเข้าได้จริงน่าจะเกิดขึ้นในปี 2565

Back to top button