TPIPP มอง Q3 โตเด่น รับยอดขาย RDF – จ่อประมูลโรงไฟฟ้าขยะเพิ่ม

TPIPP คาด Q3 โตเด่น รับยอดขายเชื้อเพลิงขยะจาก TPIPL เดินหน้าประมูลโรงไฟฟ้าขยะเพิ่ม เน้นโรงไฟฟ้า VSPP กำลังผลิต 9.90 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อเข้าประมูลประมาณ 5 - 6 โครงการ วางงบลงทุนไว้โครงการละ 2,000 ล้านบาท


นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทฯคาดผลประกอบการในไตรมาส 3/2564 จะเติบโตกว่าไตรมาส 2/2564 เนื่องจากบริษัทจะมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ให้แก่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เข้ามาเต็มไตรมาส โดยประเมินรายได้จาก RDF ทั้งปีที่ 500 ล้านบาท

อีกทั้งบริษัทฯยังมีการขายไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่เพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่าในไตรมาส 3/2564 บริษัทจะมีอัตรากำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมามากกว่า 70% จากไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 66% รวมถึงการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ SPP ก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

“ทิศทางไตรมาส 3/2564 ก็คาดว่าจะเติบโตจากไตรมาส 2/2564 ได้ เนื่องจากเรามีการรับรู้รายได้จากการขาย RDF ให้บริษัทแม่ และขายไฟฟ้าให้โรงปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตกว่าครึ่งปีแรก และส่งผลให้ทั้งปีมีรายได้จากการขายไฟฟ้าตามเป้าหมายที่ 11,800 ล้านบาท แบ่งเป็น การขายไฟฟ้าให้กับกฟผ. ตามสัญญา SPP ที่ 8,839 ล้านบาท, การขายไฟฟ้าให้กับ TPIPL หรือบริษัทแม่ ที่ 2,970 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการขาย RDF คาดอยู่ที่ 500 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งหากนับรวมกันก็จะทำให้ปีนี้บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้นราว 12,300 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ก็คาดว่ารายได้รวมยังมีโอกาสเติบโตมากกว่านี้” นายวรวิทย์ กล่าว

ขณะที่ไตรมาส 3/2564 บริษัทฯเตรียมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขยะ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะ เทศบาลนครนครราชสีมา กำลังการผลิตติดตั้ง 12 เมกะวัตต์ โดยจะมีการขายไฟฟ้า 9.90 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าขยะ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กำลังการผลิตติดตั้ง 12 เมกะวัตต์  ขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการส่งสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณา คาดว่าจะมีการลงนามภายในไตรมาส 3/2564

สำหรับโรงไฟฟ้าขยะ จ.สระบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 70 เมกะวัตต์ คาดขายไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย แต่คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ในไตรมาสนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ดีบริษัทฯวางงบลงทุนรวมไว้ที่ 5,000 ล้านบาทในปีนี้ สำหรับการพัฒนาแต่ละโครงการดังกล่าว แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าขยะ เทศบาลนครราชสีมา จำนวน 2,000 ล้านบาท, โรงไฟฟ้าขยะ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จำนวน 2,000 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าขยะ จ.สระบุรี จำนวน 1,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีอยู่ราว 5,000 ล้านบาท และการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับต่ำราว 0.50 เท่า จึงเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินได้ไม่ยาก

นอกจากนี้บริษัทฯยังมีความสนใจเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติมอีก โดยยังคงมุ่งเน้นโรงไฟฟ้า VSPP กำลังการผลิต 9.90 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ภาคตะวันออก, ภาคอีสาน และภาคกลาง ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเข้าประมูลประมาณ 5 – 6 โครงการ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นได้ในครึ่งปีหลังนี้เป็นต้นไป โดยได้วางงบลงทุนในโครงการดังกล่าวไว้โครงการละ 2,000 ล้านบาท

สำหรับทิศทางค่า Ft ในครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าจะอยู่ในทิศทางขาขึ้น หรือทรงตัว ไม่น่าจะมีการปรับลดลง เนื่องจากราคาค่าพลังงาน และอัตราแลกเปลี่ยนได้ปรับตัวขึ้น ซึ่งค่า Ft ก็จะแปรผันตามปัจจัยดังกล่าว

ทั้งนี้ความคืบหน้าของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จ.สงขลา หรือ โครงการ Southern Economic Zone ที่จะมีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงแก๊สธรรมชาติ และเป็นส่วนของพลังงานทดแทนนั้น บริษัทฯยอมรับว่าด้วยการระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงทำให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จออกไป

ขณะที่การเจรจาร่วมทุนกับพันธมิตรในจีน เพื่อลงทุนโครงการแบตเตอรี่ในจะนะนั้น ปัจจุบันบริษัทฯยังเดินหน้าร่วมกับทางพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่ามีโอกาสเห็นการดำเนินงานร่วมกันภายในปี 2567 หลังจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ดำเนินการพัฒนาเสร็จ

อนึ่งบริษัทฯยังมีแผนปรับปรุงการผลิตในปี 2564 – 2565 โดยมีเป้าหมายลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า TG7 TG8  ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการปรับปรุง Modify ให้มีการใช้ RDF เพื่อทดแทนถ่านหิน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะลดการใช้ถ่านหินให้น้อยกว่า 10% และใช้ RDF ให้มากกว่า 90% ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุน 300 – 400 ล้านบาท เริ่มใช้เงินลงทุนในไตรมาส 4/2564 หรือไตรมาส 1/2565 รวมถึงมีแผนปรับปรุงในส่วนอื่นๆ อีก เช่น ปรับปรุง RDF Boilers เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงจากการชัตดาวน์ เป็นต้น

 

 

Back to top button