สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ก.ย. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ก.ย. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เมื่อวันศุกร์ (10 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐหลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนส.ค. และนักลงทุนกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,607.72 จุด ลดลง 271.66 จุด หรือ -0.78%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,458.58 จุด ลดลง 34.70 จุด หรือ -0.77% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,115.49 จุด ลดลง 132.76 จุด หรือ -0.87%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อวันศุกร์ (10 ก.ย.) และปรับตัวลงมากกว่า 1% ในรอบสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงิน หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณที่จะชะลอการซื้อพันธบัตร

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 466.34 จุด ลดลง 1.23 จุด หรือ -0.26%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,663.77 จุด ลดลง 20.95 จุด หรือ -0.31% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,609.81 จุด ลดลง 13.34 จุด หรือ -0.09% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,029.20 จุด เพิ่มขึ้น 4.99 จุด หรือ +0.07%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (10 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ แต่ตลาดปรับตัวลงมากที่สุดในรอบสัปดาห์นี้นับตั้งแต่กลางเดือนส.ค. ขณะที่นักลงทุนบางส่วนขายหุ้นออกมาหลังจากการเปิดเผยข้อมูลบ่งชี้ว่า อัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงักในเดือนก.ค. เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งขึ้น และได้รับผลกระทบจากภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,029.20 จุด เพิ่มขึ้น 4.99 จุด หรือ +0.07%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (10 ก.ย.) โดยได้รับปัจจัยบวกจากการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากภาวะตึงตัวของปริมาณน้ำมันในสหรัฐ หลังได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนไอดา

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1.58 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 69.72 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 0.6% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 1.47 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 72.92 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 0.4% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อวันศุกร์  (10 ก.ย.) โดยยังคงปิดตลาดที่ระดับต่ำกว่า 1,800 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในวันศุกร์ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน

ทั้งนี้สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 7.9 ดอลลาร์ หรือ 0.44% ปิดที่ 1,792.1 ดอลลาร์/ออนซ์ และร่วงลงมากกว่า 2% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 27.70 เซนต์ หรือ 1.15% ปิดที่ 23.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 18 ดอลลาร์ หรือ 1.85% ปิดที่ 956.50 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 16.50 ดอลลาร์ หรือ 0.80% ปิดที่ 2,126.30 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์(10 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งจะสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.10% แตะที่ 92.5779 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.89 เยน จากระดับ 109.69 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9178 ฟรังก์ จากระดับ 0.9168 ฟรังก์ และดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2658  ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2649 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1815 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1829 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7364 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7371 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าแตะที่ระดับ 1.3845 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3837 ดอลลาร์

Back to top button