จับตาข่าวใหญ่! SCB แตกลีสซิ่งเข้าตลาด แยก “รูดปรื๊ด-P2P-คริปโต” ยกชั้นแบงก์ขึ้นโฮลดิ้ง

จับตา SCB ประชุมบอร์ด 9.00 น. วันนี้ สรุปแผนปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ แยกธุรกิจลีสซิ่ง-จำนำทะเบียนรถ ที่มียอดสินเชื่ออยู่กว่า 2 แสนล้านบาท ตั้งเป็นบริษัทใหม่ ดันเข้าตลาดหุ้นปีหน้า ด้วยมาร์เก็ตแคป 2.1 แสนล้านบาท ล่าสุดจับมือ ADVANC ตั้งบริษัทร่วมทุน AISCB ลุยสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม พร้อมแยกธุรกิจบัตรเครดิต-P2P Lending รวมถึงการเข้าสู่ธุรกิจคริปโตเคอเรนซี่ เพื่อผลักดัน SCB ขึ้นเป็นโฮลดิ้งคอมพานี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้ (22 ก.ย.) เวลาประมาณ 9.00 น. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) โดยมีวาระสำคัญที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างธุรกิจของ SCB ครั้งใหญ่ เพื่อผลักดันก้าวขึ้นสู่การเป็นโฮลดิ้งคอมพานี (Holding Company) และหลังจากการประชุมบอร์ดเสร็จสิ้นลง SCB มีกำหนดนัดหมายแถลงข่าวในวันเดียวกันเวลาประมาณ 17.00 น. โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB เป็นผู้นำการแถลงข่าวด้วยตนเอง

ขณะที่แหล่งข่าวจากแวดวงวาณิชธนกิจ เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า หนึ่งในวาระสำคัญหลักของการประชุมดังกล่าว คือ การแยกธุรกิจลีสซิ่ง (กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ) ออกมาเป็นบริษัทใหม่ (Spin-Off) เพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประทศไทย (ตลท.) ช่วงต้นปี 2565 โดยจากข้อมูล ณ สิ้นสุด 30 มิ.ย. 2564 พบว่า SCB มีมูลค่าสินเชื่อเช่าซื้อ 229,970 ล้านบาท แบ่งออกเป็น สินเชื่อรถใหม่ 132,000 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 58%) สินเชื่อรถยนต์มือสอง 55,100 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 24%) สินเชื่อรถแลกเงิน (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ) 41,400 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 18%)

ทั้งนี้ เทียบกลุ่มเดียวกันที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบัน คือ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR มีมูลค่าสินเชื่อ 52,000 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) 85,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD มีมูลค่าสินเชื่อ 34,000 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 95,000 ล้านบาท โดยพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2 บริษัทเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ซึ่งเป็นใหญ่ High Yield Loan ระดับ 18-20%

โดยอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) TIDLOR เฉลี่ยอยู่ที่ 4 เท่า SAWAD เฉลี่ยอยู่ที่ 4.2 เท่า และบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เฉลี่ยอยู่ที่ 6 เท่า ขณะที่ SCB มีมูลค่าสินเชื่อยานยนต์หลายประเภทและ Yield สูงเทียบเท่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ หากเทรดที่ P/BV ระดับ 2-3 เท่า ภายใต้สมมติฐานว่ามูลค่าสินเชื่อยานยนต์อยู่ที่ประมาณ 70,000 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัทใหม่ที่ถูกแยกออกมา (Spin-Off) จะอยู่ที่ประมาณ 140,000-210,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการแยกกลุ่มธุรกิจสินเชื่อ Digital Loan ซึ่งอาจหมายรวมถึง P2P Lending (Peers to Peers) หรือการปล่อยกู้ระหว่างบุคคลและบุคคล โดยธนาคารเป็นตัวกลางในการจับคู่ (Matching) และเก็บค่าบริการ ที่ปกติอยู่ที่ราว 15-20% ของยอดเงินปล่อย

พร้อมกันนี้ รวมถึงการเข้าสู่ธุรกิจคริปโตเคอเรนซี่ เช่น สร้าง Trading Platform (คล้ายคลึงกับ Binance) หรือเป็นตัวกลางในการรับฝากและหรือ Secodary Market ในการออกเหรียญ (ICO) ของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนั้นแหล่งข่าว กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจบัตรเครดิต จะมีการแยกออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ด้วยเช่นกัน คล้ายกับบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB

“ปัจจุบันแบงก์พาณิชย์ต้องเร่งปรับโครงสร้างองค์กรโดยการแยกธุรกิจที่ทำกำไรสูงหรือมาร์จิ้นสูงออกมาจากแบงก์ อย่างเช่น ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น คาดว่าจะเป็นแนวโน้มใหม่ของการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในอนาคต” แหล่งข่าว กล่าว

ขณะที่ ล่าสุด SCB และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ได้ลงนามร่วมทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB) ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท โดย SCB และ ADVANC จะถือหุ้นสัดส่วน 50:50 มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) เพื่อสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกยิ่งขึ้น การเข้าร่วมทุนให้บริการสินเชื่อดิจิทัลดังกล่าว สอดคล้องกับทิศทางของ SCB และ ADVANC ในการเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์มากขึ้น

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 SCB มีมูลค่าสินเชื่อปล่อยทั้งหมด 2,290,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น สินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ (corporate loan) 845,000 ล้านบาท, สินเชื่อผู้ประกอบการรายเล็ก (SME loan) 395,000 ล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 1,050,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อส่วนบุคคล แบ่งออกเป็น สินเชื่อเคหะ 685,000 ล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อ 229,970 ล้านบาท สินเชื่อไม่มีหลักประกัน 135,000 ล้านบาท และสินเชื่ออื่น ๆ อีกกว่า 5,000 ล้านบาท

Back to top button