โบรกฯ เชียร์ “ซื้อ” RBF ชูธุรกิจกัญชง หนุนรายได้-กำไรปี 65 โตเด่น

2 โบรกฯ เชียร์ “ซื้อ” RBF มองครึ่งหลังปี 64 สดใส ส่วนปี 65 รายได้-กำไรโตเด่น หลังทยอยรับรู้รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชง และมีออเดอร์จากลูกจากรายใหญ่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้รวบรวมบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้นบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF หลังนักวิเคราะห์มองว่ารายได้และกำไรปี 2565 จะเติบโตโดดเด่นจากธุรกิจกัญชง ที่คาดว่าจะเห็นผลผลิตได้ในช่วงธ.ค.64 นี้ และ RBF ยังเป็น Listed Company เพียงรายเดียวที่ได้รับใบอนุญาตโรงสกัด CBD เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น RBF ราคาเป้าหมาย 29 บาท/หุ้น โดยรายได้และกำไรจากกัญชงที่จะเข้ามาในช่วงปี 2565 จะเข้ามาสร้างการเติบโตโดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการเริ่มปลูก และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนธ.ค.2564 นี้ ซึ่งปัจจัยที่ทุกคนจับตามองคือหากมี Yield CBD มากกว่า 3% และมีราคาขายสูงกว่า 200,000 บาท/กิโลกรัม ก็จะเพิ่ม Upside มากขึ้นอีก โดยประมาณการว่า Yield ที่เพิ่มขึ้นทุก 1% จะทำให้กำไรของ RBF เพิ่มขึ้นประมาณ 288 ล้านบาท และการที่ RBF ทยอยประกาศดีลกับลูกค้าเรื่อย ๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าสมมติฐาน Demand สารสกัด CBD ในปี 65 ที่ 6,000 กิโลกรัม มีความเป็นไปได้สูง

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังจะดีขึ้นจากต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบในธุรกิจแป้งชุบทอด (Food Coating) ที่จะปรับตัวลดลง และความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือญี่ปุ่นก็เริ่มฟื้นคืนกลับมาจากภาวะโควิด-19 ที่คลี่คลาย

นอกจากนี้ผลประกอบการตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 เป็นต้นไปจะไม่ถูกกดดันจากธุรกิจโรงแรมอย่างในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากได้ดำเนินการขายเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจะทำให้กำไรบวกกลับขึ้นมาราว 10-15 ล้านบาท/ไตรมาส

ส่วนการที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เข้าซื้อหุ้นจำนวน 200 ล้านหุ้น คิดเป็น 10% ของหุ้นทั้งหมด/สิทธิออกเสียงใน RBF มูลค่าการลงทุนราว 3,000 ล้านบาท จากนายสมชาย รัตนภูมิภิญโญ และ นางเพ็ชรา รัตนภูมิภิญโญ จะทำให้เกิดอัพไซด์ของรายได้ RBF ในปีหน้าอย่างแน่นอน เพราะ RBF จะได้ประโยชน์จากช่องทางการจำหน่ายของ TU ในตลาดสหรัฐฯและยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักรวมกันแล้วราว 70% ของรายได้ TU ประกอบกับในตลาดสหรัฐฯและยุโรป ยังเป็นตลาดที่มีมูลค่าการเติบโตของสินค้ากัญชงและสินค้า Plant based ค่อนข้างสูงอีกด้วย

ดังนั้นจึงคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ทั้งสองบริษัทจะเข้ามาร่วมมือในการทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพราะทาง TU เองก็มีการประกาศแผนธุรกิจสินค้า Plant based เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ส่วน RBF เองก็พัฒนาสินค้า Plant Based ได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และจุดเด่นที่สำคัญคือ RBF ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถเลียนแต่งกลิ่นสีและรสชาติอาหาร Plant Based ให้เหมือนรับประทานเนื้อสัตว์เกือบ 100% สอดคล้องกับแผนธุรกิจของ TU

นอกจากนี้ประเมินว่าทาง RBF ก็จะมีอัพไซด์จากการเติบโตแบบ Organic Growth ด้วย เพราะจะได้รับออเดอร์จากทาง TU มากขึ้น เนื่องจากทาง TU เองก็พยายามจะออกสินค้าเกี่ยวกับกัญชง เช่น ทูน่าในน้ำมันกัญชง จึงมองว่าหลังจากนี้ไปน่าจะได้เห็น RBF เป็น Supplier ให้กับทาง TU ด้วยเช่นกัน

ส่วน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 26.50 บาท/หุ้น ยังคงมุมมองบวกกับแนวโน้มการเติบโตของ RBF และคาดว่ากำไรจะโตถึง 52% CAGR ในช่วงปี 2565-2566 โดยคาดว่ากำไรปกติในปี 2564 จะอยู่ที่ 519 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบจากปีก่อน และปี 2565 ที่ 1.03 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 97.5% เมื่อเทียบจากปีก่อน และปี 2566 ที่ 1.21 พันล้านบาท เพ่มขึ้น 17.6% เมื่อเทียบจากปีก่อน ทั้งนี้กำไรที่แข็งแกร่งในปี 2565 จะมาจากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นและธุรกิจกัญชงที่จะเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาวของ RBF

โดยสารสกัดจากกัญชงสามารถนำไปใช้ได้หลายผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากอาหารและเครื่องดื่ม ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันเมล็ดกัญชงสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อให้สัตว์รู้สึกสงบและผ่อนคลาย และมีงานศึกษาบางชิ้นที่ระบุว่าการผสมน้ำมันเมล็ดกัญชงในอาหารปศุสัตว์สามารถเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนการผลิตลงได้ ซึ่งถ้าหากลดต้นทุนลง อัตรากำไรขั้นต้นก็จะเพิ่มสูงขึ้น ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการแข่งขัน ทำให้ในอนาคตจะสามารถส่งออกสารสกัดกัญชงไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย

ส่วนจุดแข็งของ RBF ที่ทำให้เป็นผู้นำในตลาดสารสกัด CBD ได้ เพราะเดิมทำธุรกิจสารปรุงแต่งอาหารและเครื่องดื่มแบบ One-Stop Service อยู่แล้ว ทำให้บริษัทสามารถเสนอ Solution แบบครบวงจรให้กับลูกค้าได้ อย่างเช่นการปรับสารสกัด CBD ให้อยู่ในรูปแบบ Solution พร้อมใช้งานสำหรับการผลิตเครื่องดื่มในปริมาณมาก

นอกจากนี้ธุรกิจหลักอย่างแป้งชุบทอด (Food Coating) ก็มีการขยายฐานการผลิตในประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม จะช่วยเปิดตลาดสารปรุงแต่งรสและสีผสมอาหารให้กับบริษัท โดยมองว่าตลาดต่างประเทศจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโตระยะยาวของ RBF เช่นกัน

Back to top button