ส่องหุ้นแบงก์ 9 เดือน CIMBT โกยรีเทิร์นสูงเกิน 50% มาร์เก็ตแคป SCB ครองแชมป์ 4.14 แสนลบ.

ส่องหุ้นแบงก์ 9 เดือน CIMBT โกยรีเทิร์นสูงเกิน 50% มาร์เก็ตแคป SCB ครองแชมป์ 4.14 แสนลบ. แถมหุ้นต่ำบุ๊กเพียบ


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 ที่ปรับตัวขึ้นแรงและให้ผลตอบแทนโดดเด่น โดยเปรียบเทียบข้อมูล ณ วันที่ 30 ธ.ค.63-30 ก.ย.2564 อีกทั้งสำรวจมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Capitalization ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากสุดในช่วงดังกล่าวมานำเสนออีกด้าน

สำหรับหุ้นแบงก์ที่ราคาปรับตัวขึ้นแรง 9 เดือนแรกปีนี้ทีมข่าวขอนำเสนอเพียงแค่ 3 อันดับแรก ประกอบด้วย CIMBT, LHFG, และ SCB ดังตารางประกอบ

โดยอันดับ 1 คือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ราคาหุ้น 9 เดือนแรกปี 2564 มาอยู่ที่ระดับ 0.60 บาท บวก 0.31 บาท หรือเพิ่มขึ้น 51.67 % คาดราคาหุ้นปรับตัวขึ้นหลังผลประกอบการครึ่งปีแรกออกมาโดดเด่นบวกกับแผนธุรกิจที่โดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 613 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 306 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 955 ล้านบาท ลดลง 31.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,386 ล้านบาท

ส่วนงวด 6 เดือนที่ลดลงสาเหตุเกิดจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ย และเกิดจากผลขาดทุนด้านเคดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและโอกาสที่คุณภาพสินเชื่อของลูกค้าที่จะแย่ลงจากผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ล่าสุด บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART จับมือ CIMBT เปิดให้บริการทางการเงินฝาก-ถอน ผ่าน “ตู้บุญเติม”เริ่ม 15 ก.ย.ที่ผ่านมา กระตุ้นปริมาณธุรกรรมผ่านตู้บุญเติมโตเพิ่มจากเดิม 2 ล้านรายการต่อเดือนเพิ่มศักยภาพ โดยให้บริการยืนยันตัวตน ผ่านตู้ EKYC รองรับการเปิดบัญชีธนาคาร และเป็นบริษัทแรกที่เปิดให้บริการถอนเงินสดผ่าน Mini ATM ขั้นต่ำเพียง 20 บาทดันธุรกิจการเงินครบวงจรและสินเชื่อโตไม่ต่ำกว่า 30%

ส่วนอันดับ 2  บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG ราคาหุ้น 9 เดือนแรกปี 2564 มาอยู่ที่ระดับ 1.05 บาท บวก 0.47 บาท หรือเพิ่มขึ้น 44.76 % คาดราคาหุ้นปรับตัวแรงส่วนใหญ่มาจากกรณี CTBC BANK ธนาคารเอกชนอันดับ 1 ของไต้หวันเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 46.61% หวังขยายฐานธุรกิจทางการเงินโดยมุ่งเน้นการให้บริการรูปแบบดิจิตอล ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในแผนธุรกิจ

ด้านนายวิเชียร อมรพูนชัย รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ LHFG เปิดเผยว่า  CTBC Bank มีสินทรัพย์กว่า 5.30 ล้านล้านบาท มีเครือข่ายการให้บริการที่เชื่อมโยงกันถึง 116 แห่งครอบคลุมกว่า 14 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน

ทั้งนี้การที่ CTBC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพหลายๆ ด้าน และมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดย CTBC จะนำจุดแข็งมายกระดับการให้บริการทางการเงินของบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้แก่ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHBANK), บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด, บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  และ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แอดไวเซอรี่ จำกัด

โดยมุ่งเน้นการให้บริการรูปแบบ Digital การให้บริการแบบมืออาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแบบครบวงจร เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

สำหรับอันดับ 3 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาหุ้น 9 เดือนแรกปี 2564 มาอยู่ที่ระดับ 122.00 บาท บวก 34.50บาท หรือเพิ่มขึ้น 39.43% ราคาหุ้นปรับตัวแรงส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่งและเงินปันผลงาม อีกทั้งแผนธุรกิจที่โดดเด่นทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในช่วงดังกล่าว

โดยแผนล่าสุด SCB ปรับโครงสร้างธุรกิจมาเป็น SCBX  โดยตามแผนงาน 5 ปีที่ตั้งไว้ถึงปี 68 จะขึ้นเป็นบริษัทในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ซึ่งจะครอบคลุมการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 ล้านราย สามารถผลักดันการเติบโตของผลการดำเนินงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า (Quality Earning 2X) และผลักดันมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาด (Market Cap) ของ SCBX แตะ 1 ล้านล้านบาทภายในปี 68 ยิ่งทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นธุรกิจยิ่งขึ้น

ส่วนกลุ่มหุ้นธนาคารที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Capitalization เพิ่มขึ้นในรอบ 9 เดือนแรกปีนี้ขอนำเสนอเพียงแค่ 3 อันดับแรก 3 อันดับแรกคือ SCB ,KBANK และ CIMBT

โดยอันดับ 1 คือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB  มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 9 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 414,267.19  ล้านบาท (ณ 30 ก.ย.64)  เพิ่มขึ้นจากอยู่ที่ 297,114.18 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 ธ.ค.63)  

อันดับ 2 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 9 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 316,305.23 ล้านบาท (ณ 30 ก.ย.64)  เพิ่มขึ้นจากอยู่ที่ 267,734.02 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 ธ.ค.63)  

อันดับ 3 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 9 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 31,688.26 ล้านบาท (ณ 30 ก.ย.64)  เพิ่มขึ้นจากอยู่ที่ 20,893.36 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 ธ.ค.63)

อย่างไรก็ตามนอกจากการสำรวจราคาหุ้นและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หุ้นกลุ่มแบงก์แล้ว ทีมข่าวยังพบว่าหุ้นกลุ่มแบงก์ส่วนใหญ่ราคาต่ำบุ๊ก คาดจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนเข้าสะสมหุ้นดีราคาต่ำกว่าพื้นฐานเพื่อพิจารณาเข้าลงทุนอีกด้าน

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็น Overweight  พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนสนใจมากที่สุดคือธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้เห็นว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความมั่นคงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ CAR (เฉลี่ย 19%) สูงกว่าขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ (11%) อย่างมีนัยสำคัญ สามารถรองรับความเสี่ยงจากการด้อยค่าของคุณภาพสินทรัพย์ได้ แม้ว่าระยะสั้นยังมีความท้าทายจากผลกระทบโควิด-19 แต่ก็ได้อานิสงส์จากมาตรการของธปท. ในเรื่องผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้และลดหย่อนการนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูเป็น 0.23% (จาก 0.46%) ไปถึงสิ้นปี 2565

ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จะผ่านวิกฤตโควิต-19 ไปได้ และเติบโตในระยะยาวในด้าน Valuation ก็จูงใจโดยในปัจจุบันราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่ำกว่า Price to Book Value Ratio หรือ P/BV (อัตราส่วนระหว่าง “ราคาหุ้น” กับ “มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น”) เฉลี่ย 0.7 เท่า (ยกเว้น บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ที่สูงกว่าเพราะมี ROE สูงกว่ากลุ่ม)

ส่วนอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ในเชิงกลยุทธ์ หุ้นเด่นในกลุ่มแบงก์ใหญ่เป็นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รองลงมาเป็นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ  BBL ส่วนหุ้นเด่นในกลุ่มแบงก์เล็กคือ TISCO ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงมาก

Back to top button