เปิด 4 หุ้นโรงแรม! สุดพร้อม รับ “นทท.” เข้าไทย 1 พ.ย.นี้

4 หุ้นโรงแรม! พร้อมรับนักท่องเที่ยว 46 ประเทศ เดินทางเข้าไทยทางอากาศ “ไม่ต้องกักตัว” โดยต้องจองห้องพักที่โรงแรม Alternative Quarantine (AQ) จำนวน 1 คืน เพื่อรอผลตรวจโควิด-19 ที่ตรวจในวันที่เดินทางถึงประเทศไทย แบบ RT-PCR เมื่อมาถึง เริ่ม 1 พ.ย.นี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งนำร่องโดยผู้ที่เดินทางจากประเทศความเสี่ยงต่ำ 46 ประเทศและฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก่อนเดินทางอย่างน้อย 14 วัน จะสามารถเดินทางเข้าไทยได้ทางอากาศโดยไม่ต้องกักตัว โดยต้องจองห้องพักที่โรงแรม Alternative Quarantine (AQ) จำนวน 1 คืน เพื่อรอผลตรวจโควิด-19 ที่ตรวจในวันที่เดินทางถึงประเทศไทย

โดยเป็นลักษณะเข้ารับการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR เมื่อมาถึงและรอผลการตรวจที่โรงแรม SHA+ หรือ AQ สำหรับ 1 คืนหรือจนกว่าจะได้ทราบผลตรวจ ทั้งนี้ในระหว่างที่รอผลการตรวจหาเชื้อโรคโควิด – 19 ผู้เดินทางไม่สามารถออกนอกโรงแรมได้

สำหรับเงื่อนไขนี้จะใช้กับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ด้วยวัคซีนที่ได้รับอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเท่านั้น ผู้เดินทางที่มีสิทธิ์ต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีน

ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ไม่ได้รับวัคซีนที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยพร้อมผู้ปกครอง สามารถเข้าประเทศได้ตามเงื่อนไขเดียวกันกับผู้ปกครอง

ขณะที่ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วแต่เดินทางมาจากประเทศอื่น สามารถเดินทางเข้าไทยทางอากาศได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขโครงการ Sandbox หรือพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว โดยต้องมีหลักฐานการจองโรงแรมในระบบ SHA+ เป็นเวลา 7 วัน หลังจากผลตรวจโควิด-19 PCR ที่ตรวจในวันที่เดินทางถึงประเทศไทยออกแล้ว สามารถออกไปท่องเที่ยวระหว่างวันได้

ทั้งนี้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบตามข้อกำหนดของไทย ต้องเข้ารับการกักตัวในโรงแรม Alternative Quarantine (AQ) เป็นเวลา 10 วัน

สำหรับผู้ประกอบการโรงแรมจะได้ประโยชน์จากแพ็คเกจ 1 คืนนี้ ส่วนใหญ่รวมค่ารถบริการจากสนามบินถึงโรงแรม การตรวจ RT-PCR ห้องพัก 1 คืน กับอาหาร และมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะใช้บริการโรงแรมต่อเลยหลังจากนั้น

ดังนั้นจากการสอบถามของทีมงานข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ไปยังกลุ่มโรงแรม โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ MINT, AWC, ERW และ CENTEL เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT มีโรงแรง SHA ทั้งหมด 19 แห่ง พร้อมให้บริการ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2564 สำหรับแพ็คเกจ 1 คืน โดยมีข้อมูลว่าทางฝ่ายบริหารกำลังจัดเตรียมอยู่ เพราะอย่างไรก็ตามทางโรงแรมมีความพร้อมรับรองนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยการแบ่งโซนในโรงแรมเป็นโซนกักตัว และโซนผู้ใช้บริการทั่วไป

ทั้งนี้ในช่วงสิ้นสุดไตรมาส 2/2564 มีอัตราการเข้าพักโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ 13% เพิ่มขึ้นจาก 9% ในไตรมาส 2/2563 อัตราเฉลี่ยต่อห้องพักรายวัน (ADR) อยู่ที่ 3,162 บาทในช่วงไตรมาส 3 และรายได้ต่อห้องว่าง (RevPar) อยู่ที่ 416 บาท

ขณะที่ย้อนไปดูช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดในช่วงไตรมาสที่ 4/2562 อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 72% โดยอัตราเฉลี่ยต่อห้องพักรายวัน ( ADR) อยู่ที่ 5,175 บาท และรายได้ต่อห้องว่าง (RevPar) อยู่ที่ 3,713 บาท

ด้าน “คอนเซนซัส” คาด MINT ในไตรมาส 3/2564 ขาดทุนสุทธิ 2,590 ล้านบาท ลดลงจากขาดทุนสุทธิ 3,923 ล้านบาทในไตรมาส 2/2564 เนื่องจากเริ่มมีรายได้ในส่วนของโรงแรมฝากฝั่งยุโรปเข้ามาหนุน เพราะส่วนใหญ่บริษัทมีรายได้หลักจากยุโรป โดยโรงแรมในยุโรปที่เริ่มกลับมาให้บริการในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดรายได้ในไตรมาส 3/2564 อยู่ที่ 17,740 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 165% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 6,698 ล้านบาท

ส่วนด้านราคาหุ้นบนกระดานของ MINT ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 อยู่ที่ 32.50 บาท ค่อยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปี 2563 ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2563 อยู่ที่ 25.75 บาท โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแล้ว 26.21% แต่ถึงอย่างไรหากเทียบกับราคาหุ้นก่อนเกิดโควิด-19 ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2562 อยู่ที่ 36.00 บาท นั่นก็หมายความว่าราคาที่ขึ้นมาแล้วยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีกหากสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมของบริษัทกลับมาเป็นปกติ

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ถือว่ามีความพร้อมในส่วนของโรงแรมในการรับนักท่องเที่ยว สืบเนื่องจากหลังจากมีการคลายล็อกดาวน์ ณ เดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทฯ มีความพร้อมให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ด้วยมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มข้น พร้อมสนับสนุนให้พนักงานของบริษัททยอยฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าที่กลับมาใช้บริการ

โดยปัจจุบัน AWC มีโรงแรมในเครือทั้ง 18 แห่ง ซึ่งได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ SHA แสดงให้เห็นถึงคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการที่ใส่ใจความปลอดภัยตามการท่องเที่ยวแบบ New Normal พร้อมด้วยยังได้มาตรฐานของเชนบริหารระดับโลก ซึ่งให้ความสำคัญและเข้มงวดในเรื่องความสะอาด สุขอนามัย และความปลอดภัยของแขกผู้มาใช้บริการ

สำหรับรายได้กลุ่มกิจการโรงแรมและบริการที่เกี่ยวข้องในไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 298 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 32% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ในไตรมาส 2/2564 บริษัทมี RGI สูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยอยู่ที่ 125.3 ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งอื่นๆ ในตลาด

ด้าน “คอนเซนซัส” คาดว่า AWC ในไตรมาส 3/2564 ขาดทุนสุทธิ 804 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 306% จากผลขาดทุนสุทธิ 198 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2564 ส่วนรายได้คาดอยู่ที่ 860 ล้านบาท ลดลง 44% เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 1,546 ล้านบาท

ส่วนด้านราคาหุ้นบนกระดานของ AWC ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 อยู่ที่ 4.52 บาท ขณะที่สิ้นปี 2563 ณ วันที่ 30 ธ.ค.2563 อยู่ที่ 4.56 บาท โดยราคาลดลง 0.88% ถึงอย่างไรหากไปเทียบกับราคาหุ้นก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2562 ปิดอยู่ที่ 5.85 บาท ทั้งนี้ราคาหุ้นล่าสุดยังต่ำกว่าราคาปิดก่อนเกิดโควิด

บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW เปิดให้บริการทุกโรงแรมตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา โดยมีจำนวนห้องพักให้บริการทั้งหมด 9,020 ห้อง ซึ่งโรงแรมทุกแห่งในภาคใต้นั้นได้รับ SHA+ ทุกแห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่โรงแรมในกรุงเทพกำลังทยอยปรับจาก SHA เป็น SHA+ ทั้งนี้ ERW พร้อมให้บริการทั้งนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมามีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 20% มาจากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐเป็นหลัก

ทั้งนี้ในไตรมาส 2/2564 มีอัตราเฉลี่ยต่อห้องพักรายวัน (ADR) อยู่ที่ 880 บาท เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน สำหรับโรงแรมในไทย และรายได้ต่อห้องว่าง (RevPar) อยู่ที่ 180 บาท เพิ่มขึ้น 192% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ย้อนไปดูช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในไตรมาสที่ 4/2562 อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 78% โดยอัตราเฉลี่ยต่อห้องพักรายวัน (ADR) อยู่ที่ 2,656 บาท และรายได้ต่อห้องว่าง (RevPar) อยู่ที่ 2,064 บาท

ด้าน “คอนเซนซัส” คาดว่า ERW ในไตรมาส 3/2564 ขาดทุนสุทธิ 595 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 13% จากขาดทุนสุทธิ 689 ล้านบาทในไตรมาส 2/2564 ขณะที่รายได้ไตรมาส 3/2564 คาดอยู่ที่ 217 ล้านบาท ลดลง 19% จาก 269 ล้านบาทในไตรมาส 2/2564

ส่วนด้านราคาหุ้นบนกระดานของ ERW ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 อยู่ที่ 3.16 บาท ค่อยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปี 2563 ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2563 อยู่ที่ 2.32 บาท โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแล้ว 36.21% แต่ถึงอย่างไรหากเทียบกับราคาหุ้นก่อนเกิดโควิด-19 ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2562 อยู่ที่ 5.95 บาท ทั้งนี้ราคาหุ้นล่าสุดยังต่ำกว่าราคาปิดก่อนเกิดโควิด

บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ขณะนี้บริษัทมีโรงแรมเปิดให้บริการแล้ว 9 แห่ง โดยมีจำนวนห้องพัก 2,818 ห้อง และมี SHA+ ส่วนแพ็คเกจ 1 คืนนั้นยังไม่มีออกมา

สำหรับช่วงที่ผ่านมาในไตรมาส 2/2564 มีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 11% เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราเฉลี่ยต่อห้องพักรายวัน (ADR) ของโรงแรมในไทยอยู่ที่ 2,343 บาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้ต่อห้องว่าง (RevPar) อยู่ที่ 259 บาท เพิ่มขึ้น 133% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ย้อนไปดูช่วงก่อนเกิดโควิดในไตรมาส 4/2562 อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 77.6% โดยอัตราเฉลี่ยต่อห้องพักรายวัน (ADR) อยู่ที่ 3,514 บาท และรายได้ต่อห้องว่าง (RevPar) อยู่ที่ 2,727 บาท

ด้าน “คอนเซนซัส” คาดว่า CENTEL ในไตรมาส 3/2564 ขาดทุนสุทธิ 660 ล้านบาท ดีขึ้น 9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 ส่วนรายได้คาดอยู่ที่ 2,285 ล้านบาท ลดลง 15% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564

ส่วนด้านราคาหุ้นบนกระดานของ CENTEL ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 อยู่ที่ 35.75 บาท ค่อยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปี 2563 ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2563 อยู่ที่ 23.70  บาท โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแล้ว 50.84% แต่ถึงอย่างไรหากเทียบกับราคาหุ้นก่อนเกิดโควิด-19 ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2562 อยู่ที่ 25.00 บาท ถือว่าราคาหุ้นล่าสุดปรับตัวขึ้นสูงกว่าราคาปิดก่อนเกิดโควิด

Back to top button