BEM ตรึงค่าทางด่วน “ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก” 1 ปี ลดค่าครองชีพปชช.

“ศักดิ์สยาม” รมว.คมนาคม เผย BEM ตอบรับมาตรการเยียวยา “ตรึงค่าทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ” 1 ปี เฉพาะในรูปแบบคูปอง แต่ถ้าหากจ่ายผ่านระบบอื่นราคาปรับขึ้นตามเกณฑ์ เริ่ม 15 ธ.ค.64-15 ธ.ค.65


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมและคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวมทั้ง นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานคณะกรรมการ และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ.และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

รวมทั้ง นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร และนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนจากกรณีการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ธ.ค.64

อนึ่ง ภายใต้สัญญาสัมปทาน ในวันที่ 15 ธ.ค.64 ค่าผ่านทางศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครปรับขึ้นดังนี้ รถ 4 ล้อ ปรับขึ้นจาก 50 บาทเป็น 65 บาท รถ 6-10 ล้อ ปรับขึ้นจาก 80 บาท เป็น 105 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ ปรับขึ้นจาก 115 บาท เป็น 150 บาท

ด้านนายศักดิ์สยาม เปิดเผยหลังการหารือว่า เนื่องจากในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอันเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษ ผลการประชุมครั้งนี้ เห็นควรให้ กทพ.และ BEM กำหนดมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีการปรับค่าผ่านทางดังกล่าว จึงขอให้ทาง BEM พิจารณาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และช่วยเหลือประชาชนโดยการออกมาตรการส่งเสริมการตลาด หรือชะลอการขึ้นค่าผ่านทางไว้ก่อน

ทั้งนี้ ผู้แทนจาก BEM ได้ตอบรับแนวทางดังกล่าว โดยจะออกเป็นลักษณะของการส่งเสริมการตลาด (Promotion) ในรูปแบบผู้ใช้ทางที่ใช้คูปองชำระค่าผ่านทาง จะได้อัตราราคาเดิม เป็นระยะเวลา 1 ปี (15 ธ.ค.64-15 ธ.ค.65) โดยทาง BEM จะทำหนังสือยืนยันมาตรการดังกล่าวแจ้งมายัง กทพ.เพื่อประชาสัมพันธ์ผู้ใช้ทางพิเศษในช่วงดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ดีในที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบนทางพิเศษของ กทพ.ที่อยู่ในการกำกับดูแลตามสัญญาสัมปทานของ BEM จำนวน 3 สายทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษสายศรีรัช ทางพิเศษสายอุดรรัถยา และทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยการนำเทคโนโลยีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow : M-Flow) มาใช้ ทั้งนี้ ได้มีข้อสรุปให้ กทพ. จัดทำ action plan ให้ชัดเจนเพื่อเร่งรัดการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะ โดยทางบริษัท BEM ยินดีให้ความสนับสนุนกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อใช้ในระบบขนส่งสาธารณะที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการอยู่ โดยในระยะแรก ได้มีการพัฒนาระบบ EMV Contactless ซึ่งเป็นการหักเงินผ่านระบบบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของธนาคาร ทั้งในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง พร้อมบูรณาการร่วมกับรถโดยสารของ ขสมก. และทางพิเศษ และจะได้มีการขยายผล ให้ครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะของกระทรวงคมนาคม รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบในระยะต่อไป

 

 

    

Back to top button