โบรกฯชี้ CK กลางปี 65 ลุ้นแบ็คล็อกแตะ 1.5 แสนลบ. แนะ “ซื้อ” ชูเป้า 26 บ.

“ฟินันเซีย ไซรัส” คาดหุ้น CK กลางปี 65 ลุ้นแบ็คล็อกทะยานแตะ 1.5 แสนลบ. ศักยภาพเข้าประมูลโครงการที่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม อย่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท และงานจาก CKP โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง มูลค่าราว 9 หมื่นล้านบาท คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสมปี 65 อยู่ที่ 26 บาท


บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (4 พ.ย. 2564) ประเมิน บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ต่อผลการดำเนินงานโดยคาดกำไรปกติในไตรมาส 3/2564 อยู่ที่ 113 ล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยผลจากกำไรไตรมาส 3/2564 ลดลง อนึ่งธุรกิจรับเหมาได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่ง CK มีงานก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวราว 90% ของงานระหว่างการก่อสร้าง แต่ยกเว้นโครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง ผลดังกล่าวทำให้ถูกเลื่อนการรับรู้รายได้ออกไป ทั้งนี้ทำให้มีการคาดการว่ารายได้ก่อสร้างลดลงเหลือ 2.6 พันล้านบาท ซึ่งลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง 32% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ส่วนทางด้านส่วนแบ่งกำไรจาก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM คาดลดลง 78% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง 94% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยจากผลของมาตรการล็อกดาวน์เป็นตัวกดดัน ขณะที่ค่าใช้จ่ายบริหารคาดอยู่ที่ 520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิด-19

อย่างไรก็ดีจากผลกระทบดังกล่าวข้างต้นจะถูกบรรเทาด้วยรายได้เงินปันผลจาก บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW จำนวน 232 ล้านบาท พร้อมมีส่วนแบ่งกำไรจาก บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงไฮซี่ซั่น หลังเข้าฤดูฝนเต็มเข้ามาหนุนในการผลิตกระแสไฟฟ้า

ทั้งนี้จึงมีการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ลง 50% ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 451 ล้านบาท ลดลง 26% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 ลง 22% ก็จะส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% เมือ่เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีการปรับสมมติฐานหลักจากส่วนของปรับลดรายได้ก่อสร้างปี 2564 ลง 26% ส่งผลให้อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ลดลง 28% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และปรับลดรายได้ก่อสร้างในปี 2565 ลง 10% ส่งผลให้อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับเพื่อสะท้อนผลกระทบมาตรการปิดแคมป์ และโครงการประมูลที่ล่าช้า พร้อมด้วยปรับลดส่วนแบ่งกำไรจาก BEM ในปี 2564 ลง 48% และในปี 2565 ลง 20% ตามลำดับ จากโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าคาด

ทว่าทางฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกต่อปี 2565 จากภาพธุรกิจรับเหมาที่เป็นขาขึ้น สะท้อนจาก Backlog ที่คาดเร่งขึ้นจากสิ้นไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท ปรับขึ้นมาเป็น 4.6 หมื่นล้านบาทในปลายปี 2564 หลังสามารถเซ็นสัญญารถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญา 2,3 ซึ่งคาดได้รับงานราว 2.3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่มองว่าปริมาณงานในมือมีโอกาสทะยานแตะระดับ 1.5 แสนล้านบาท ในกลางปี 2565 จากศักยภาพในการเข้าประมูลโครงการที่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมอย่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท และงานจาก CKP อย่างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง มูลค่าราว 9 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการใหญ่ที่มีโอกาสเปิดประมูลในปี 2565 และยังไม่รวมในประมาณการอย่างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก งานโยธา 9 หมื่นล้านบาท

ดังนั้นทางฝ่ายวิจัยปรับไปใช้ราคาเหมาะสมปี 2565 ที่ 26 บาท คงคำแนะนำ “ซื้อ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Back to top button