ตลท. เพิ่มเกณฑ์สกัดหุ้นร้อน คัดเข้า “SET50-SET100” มีผลปี 65

ตลท. เพิ่มเกณฑ์สกัดหุ้นร้อน คัด “SET50-SET100” โดยเริ่มใช้ในการคัดเลือกรอบปลายปี 64 ก่อนประกาศผลการคัดเลือกในธ.ค.64 และใช้ในการคำนวณดัชนีช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.65 เดินหน้าศึกษาเกณฑ์การปรับปรุง “ฟรีโฟลต” เพิ่ม


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นแนวทางการปรับปรุงดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ พบว่าผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการปรับปรุงดัชนี ทั้งการปรับเกณฑ์สภาพคล่องการคัดเลือกหุ้นใน Tradable Index โดยนำข้อมูลหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (Market Surveillance measure list) ของ ตลท. มาประกอบการพิจารณา และ การปรับการคำนวณดัชนี เป็น Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted

ดังนั้น ตลท.จะปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนี ในด้านเกณฑ์สภาพคล่องตามหลักการข้างต้น โดยเริ่มใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบในดัชนีรอบปลายปี 64 ซึ่งจะมีการประกาศผลการคัดเลือกในช่วงเดือน ธ.ค.64 และใช้ในการคำนวณดัชนีในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.65 เป็นต้นไป

สำหรับ การปรับการคำนวณดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็น Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted ตลท.จะศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของนิยามในการกำหนด Free Float และ Strategic partner, ศึกษาแนวทางการนำสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) มาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในดัชนี, กำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและทำให้การเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่น และหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรายละเอียดก่อนแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ลงทุนทราบเป็นการทั่วไป

อนึ่ง ในปัจจุบันเกณฑ์การคัดเลือกดัชนีของ SET Index Series ที่เป็น Tradable & Thematic Index ทั้งหมด จะมีเกณฑ์การคัดเลือกที่ประกอบด้วยทั้งเกณฑ์ด้านปริมาณ (Quantitative) ได้แก่ Market Capitalization, Value Trade , Turnoverratio , Free Float เป็นต้น และเกณฑ์เชิงคุณภาพ (Quality) เช่น ไม่เข้าข่ายถูกเพิกถอน ไม่ถูกสั่งพักการซื้อขาย หรือ มีปัญหาด้านงบการเงิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีเหล่านี้อาจมีความผันผวนค่อนข้างสูงและอาจไม่สามารถสะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ (Investable) ได้ดี ดังนั้น ตลท.จึงได้ศึกษาแนวทางที่จะปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อให้สะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ได้ดีขึ้น สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

รวมถึงลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นในดัชนีที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ต่ำ โดยศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์ทั้งที่เป็นเกณฑ์เชิงปริมาณ (Quantitative) และเกณฑ์เชิงคุณภาพ (Quality) ได้แก่ ปรับเกณฑ์สภาพคล่องการคัดเลือกหุ้นในดัชนี Tradable Index และปรับการคำนวณดัชนีเป็น Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted

โดยหลังจากนั้น ตลท.เปิดรับฟังความเห็น จากผู้ตอบแบบสอบถาม 118 ราย ประกอบด้วย ผู้ลงทุนทั่วไป บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน ที่ปรึกษาทางการเงิน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ พบว่า

  1. การปรับเกณฑ์สภาพคล่องการคัดเลือกหุ้นในดัชนี Tradable Index ผู้ให้ความเห็นส่วนมากเห็นด้วยในหลักการที่ตลท.เสนอ โดยให้เหตุผลว่าดัชนีที่เป็น Benchmark ที่ใช้วัดผลการลงทุนได้ดีควรสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้จริง การปรับปรุงเกณฑ์อาจช่วยลดความปัญหาในเรื่องของ investability และสามารถ tracking ได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม  มีผู้แสดงความคิดเห็นบางรายที่เห็นว่าแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์เสนออาจไม่สามารถแก้ไขหรือลดความผันผวนของดัชนีได้ และการดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้ดัชนี SET 50 และ SET100 ไม่เป็นตัวแทนของหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) อันดับต้น ๆ อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ยังมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมดังนี้

– ควรวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดการปรับเปลี่ยนหุ้นเข้าออกมากหรือบ่อยครั้งเกินไป

– การพิจารณากำหนดเกณฑ์สภาพคล่องของหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์  อาจควรพิจารณาให้มีความละเอียดมากขึ้นกว่ารายเดือน

– ควรพิจารณามาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ต่างๆ เช่น กรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือกรณีหุ้นบริษัทที่มีผลประกอบการเป็นวัฎจักร หรือ ผลประกอบการ turnaround เป็นต้น

– อาจเพิ่มหลักเกณฑ์ Buffer rule เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและช่วยลดการปรับเปลี่ยนหุ้นในจำนวนมาก

– การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ควรแจ้งล่วงหน้าก่อนการเริ่มใช้ เพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบและเตรียมตัว

  1. ปรับการคำนวณดัชนีเป็น Free float Adjusted Market Capitalization Weighted ผู้ให้ความเห็นส่วนมากเห็นด้วยในหลักการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ โดยให้เหตุผลว่าการใช้วิธีการคำนวณดัชนีแบบ Free float Adjusted Market Capitalization Weighted สามารถสะท้อนภาพ Investable universe ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ร่วมตลาดและผู้ลงทุนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยให้กองทุนสามารถลงทุนในหุ้นเหล่านั้นได้จริง ลดความผันผวนของดัชนีจากสภาพคล่องของหุ้นที่ผิดปกติ และเป็นแนวทางเดียวกับผู้จัดทำดัชนีชั้นนำในต่างประเทศ  เช่น MSCI และ FTSE

ขณะที่ผู้แสดงความคิดเห็นบางราย เห็นว่าแนวทางดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาหรือลดความผัวผวนของดัชนีได้ และจะส่งผลกระทบด้านลบต่อมูลค่าหุ้นและต่อผู้ลงทุน  โดยเห็นว่าเกณฑ์ปัจจุบันทั้งในเรื่องของเกณฑ์การกำหนดสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free  float)  ขั้นต่ำ  และการคัดกรองจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขายเทียบกับจำนวนหุ้นจดทะเบียนของหลักทรัพย์ (Turnover ratio) มีความเหมาะสมอยู่แล้ว  จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การให้น้ำหนักและการคำนวณดัชนี

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้

– ควรศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของนิยาม Strategic Partner เพื่อให้สัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) สามารถน มาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณเพื่อให้น้ำหนักของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีมีความเหมาะสมและสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ (Investable) ของหุ้นได้ดียิ่งขึ้น

โดยอาจเสนอให้พิจารณาประเด็นเหล่านี้เพิ่มเติม เช่น ควรปรับปรุงข้อมูลสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน และควรเปิดเผยข้อมูล Free Float ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี,  ควรตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นผ่าน Nominees ของ Strategic partner เพื่อให้ได้ข้อมูล Free Float ที่ถูกต้อง, ควรพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นที่มีสัดส่วนเกินร้อยละ 2 และไม่มีการเคลื่อนไหวเกินกว่า 2 ปี ให้เป็น Strategic partner, ควรมีการกำหนดเพดาน (cap) สำหรับการปรับเพิ่มหรือลดนน้ำหนักการลงทุนจากส่วนของ Free float adjusted เพื่อลดผลกระทบจากการลงทุน

– ควรให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปถึงความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ต่ำ

– ควรใช้ Free float Adjusted Market Capitalization Weighted กับดัชนี Tradable Index เช่น ดัชนี SET50 SET100 เท่านั้น ไม่ควรใช้กับ Composite Index เช่น ดัชนี SET

– ควรจัดทำเป็นดัชนีใหม่มากกว่าการปรับแก้เกณฑ์ดัชนีในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน

– ควรมีการจัดทำข้อมูลผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับดัชนีเพื่อแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ รวมถึงประกาศล่วงหน้าก่อนมีผลเพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบและเตรียมตัว และทยอยปรับเป็น 2-3 ช่วงเพื่อลดผลกระทบ

Back to top button