เปิด 10 หุ้น “บลูชิพ” กำไร Q3 โตทะลักเกิน 50%

เปิด 10 หุ้น “บลูชิพ” กำไรไตรมาส 3/64 โตทะลักเกิน 50% IVL นำทีมเด่นกำไรทะลุ 6.5 พันลบ. โตสนั่น 16 เท่าตัว


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” รวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ที่ประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 (สิ้นสุด 31 ก.ย.2564) มานำเสนอ โดยครั้งนี้คัดเลือกเฉพาะหุ้นกลุ่ม SET50 ที่มีกำไรสุทธิเติบโตเกิน 50% เพียง 10 อันดับแรกมานำเสนอและจะนำเสนอข้อมูลประกอบใน 5 อันดับแรกดังนี้

อันดับ 1 คือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 6,548.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,622.82% จากไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 6,167.99 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้จากการขายรวมมูลค่า 3,867 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบปีต่อปี

ด้านนายดีลิป กุมาร์ อากาวาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IVL เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/64 มีแนวโน้มดีขึ้น ตามความต้องการสินค้าของบริษัทที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับภาพรวมทั้งปี 64 บริษัทฯ คาดว่าผลการดำเนินงาน ทั้งรายได้และกำไรสุทธิจะเติบโตทำสิถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) หลัง 9 เดือนที่ผ่านมา เติบโตกว่าปีก่อนไปแล้ว โดยมีรายได้อยู่ที่ 339,848.60 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 20,896.49 ล้านบาท จากปีก่อนทั้งปีอยู่ที่ 336,542.78 ล้านบาท และ 2,414.28 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับทิศทางในปี 65 เบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีนี้ จากความต้องการสินค้าในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น อีกทั้งธุรกิจ IOD จะได้ปัจจัยหนุนจากการซื้อกิจการ Oxiteno S.A. Industria e Comercio ในประเทศบราซิล มูลค่าลงทุนราว 1.3-1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะสามารถปิดดีลซื้อกิจการดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาส 1/65 ซึ่งจะทำให้ IVL มีธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ในอุตสาหกรรมสารลดแรงตึงผิวมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งยังช่วยขยายกลุ่มธุรกิจ IOD ที่ดำเนินการอยู่อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ธุรกิจ Fibers บริษัทก็มีแผนขยายตลาดของ hygiene fibers ภายใต้โครงการ Gemini ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปีนี้ และการลงทุนเพิ่มในกลุ่มธุรกิจ hygiene fibers ในตลาดที่มีการเติบโต รวมทั้งจะมีการย้ายฐานการผลิตแห่งหนึ่งไปตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 1/65 และจะมีการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศรัสเซียในช่วงกลางปี 66 ด้วย

 

อันดับ 2 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 7,005.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 671.17 % จากไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 908.38 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3/2564 บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 112,173 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2/2564 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 จากไตรมาส 3/2563

โดยรายได้จากการขายรวมมีแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาขายของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนทางด้านอุปสงค์ที่ยังคงดีอย่างต่อเนื่องและอุปทานที่ตึงตัวจากการหยุดซ่อมบำรุงและการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตบางรายใน ภูมิภาค

ทั้งนี้ เช่นเดียวกับทิศทางราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบและอุปสงค์ที่ฟื้นตัวภายหลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นอกจากนี้ในด้านปริมาณขายในไตรมาสนี้ บริษัทฯ มีปริมาณขายในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตของบริษัทฯที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากการขยายกำลังการผลิต รวมถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตเดิมระหว่างไตรมาส แม้จะมีปริมาณขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงเนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาสนี้ก็ตาม

ทั้งนี้ ทิศทางการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบส่งผลให้บริษัทฯ มีต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ส่งผลให้ในไตรมาส 3/2564 บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 8,657 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 17 จากไตรมาส 2/2564 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 200 จากไตรมาส 3/2563

บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  แนะนำ “ซื้อ” PTTGC ราคาเป้าหมาย 85.00 บาท คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2565 โดยประเมินกำไรปี 25641 ที่ 48.8 พันล้านบาทสูงขึ้นจาก 200 ล้านบาทในปี 2563  หลักๆจาก 1) ราคาเม็ดพลาสติก PE ที่ปรับตัวสูงขึ้น 2) crack spread ที่ดีขึ้นของธุรกิจโรงกลั่น 3) การรับรู้การดำเนินงานของโครงการ ORP และการรับรู้โครงการ PO/Polyal และ 4) อัตรากำไรที่สูงขึ้นของธุรกิจ PMC และ Aromatics ส่วนปี 2565 คาดว่ากำไรจะปรับตัวสู่ระดับปกติที่ 28.1 พันล้านบาท จากผลกระทบของส่วนต่าง ราคาผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ PMC และ Aromatics ที่อ่อนตัวลง

 

อันดับ 3 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 2,062.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 188.37% จากไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 715.29 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3/2564 บริษัทมีรายได้จากการขาย 79,960 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 57,117 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 78,120 ล้านบาท

ด้านนายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ TOP เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2564 คาดจะเติบโตต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตมาจากค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 ถึงปัจจุบัน สิงคโปร์ ค่าการกลั่น (GRM) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 เหรียญ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า จากไตรมาสก่อน เนื่องจากสินค้าทุกตัวดำเนินการได้ดี โดยแก๊สโซลีนมีความต้องการ (ดีมานด์) เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค จากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ขณะที่น้ำมันอากาศยาน (JET) และดีเซลเริ่มมีทิศทางบวกมากขึ้นเช่นกัน จากการทยอยเปิดประเทศ

สำหรับตลาดในประเทศปี 2565 บริษัทมองว่าดีมานด์จะฟื้นตัวดีขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่ากลุ่มน้ำมันเบนซิน ดีเซลจะเติบโต 5-8% น้ำมันอากาศยานเติบโต 40% แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 และน้ำมันเตา จะเติบโตได้ในระดับปกติที่ 2%

ส่วนราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนค่อนข้างดีในช่วงที่เหลือของปี 2564 และไปจนถึงปี 2565 เป็นผลมาจากระยะสั้นมีดีมานด์เข้ามาเพิ่มเติม คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 5 แสน-2 ล้านบาร์เรล/วัน

ทั้งนี้ในปี 2565 สภาพเศรษฐกิจจะฟื้นตัวตามสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั่วโลกจะเติบโต 4.9% และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับสูงถึง 3.5 ล้านบาร์เรล/วัน เป็นปัจจัยสนับสนุนในส่วนของตลาดน้ำมันดิบ

ขณะที่ซัพพลาย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามความต้องการ โดย OPEC+ จะเพิ่มขึ้นทุกเดือน ในอัตราระดับ 4 แสนบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564-ก.ย. 2565 สอดรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ฝั่งกลุ่มนอก OPEC มีทิศทางปรับเพิ่มกำลังการผลิต ตามราคาที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 4/2564-ไตรมาส 1/2565 ซัพพลายยังน้อยกว่าดีมานด์ เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่น จึงมองว่าระยะนี้ตลาดน้ำมันน่าจะได้รับแรงหนุนค่อนข้างดี จากนั้นในไตรมาส 2-4 ของปี 2565 ความร้อนแรงน้ำมันคาดว่าจะไม่เท่าระดับปัจจุบัน

 

อันดับ 4 บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 604.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141.62% จากไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 250.04 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้ขายรวมของกลุ่มในรูปเงินบาทสำหรับไตรมาส 3/64 จำนวน 3,789.0 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.15 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.21 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ยอดขายในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.91 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.94 จากฐานต่ำในไตรมาส 3/63 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 รอบแรก

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทต่อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มีการรับรู้รายได้เงินบาทในงวดนี้เพิ่มขึ้น 135 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน และ 164 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันในปีก่อน

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์(10 พ.ย.64) ว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อ KCE ที่กำไรสุทธิ 604 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2564 โต 142% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้จะต่ำกว่าคาด 11% แต่ยังเห็นยอดขาย new high

ทั้งนี้ยอดขายเติบโตถึง 39% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและ GPM ยังเพิ่ม เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการเติบโตในอุตฯรถยนต์และสินค้า HDI มียอดขายเติบโต อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิลด 2% ไตรมาสก่อนหน้าเพราะการระบาดโควิดและต้องปรับสภาพโรงงาน

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/2564 พนักงานฉีดวัคซีนไปเกือบครบทำให้มีความคล่องตัวในการทำงานในโรงงานมากขึ้น จึงคาดยอดขาย/มาร์จิ้น/กำไรปกติเพิ่มขึ้น ไตรมาสก่อนหน้าคงให้ KCE เป็น top pick ของกลุ่ม แนะซื้อปรับราคาเป้าหมายเป็น 97 บาท ปรับเพิ่มตามประมาณการเพราะคาดมาร์จิ้นดีขึ้น เนื่องจากความต้องการในอุตฯรถอีวียังโตได้อีกหลายปี

 

อันดับ 5 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 8,817.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.98% จากไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 4,641.39ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการทำกำไรจากของธุรกิจที่ดีขึ้นและการตั้งเงินสำรองที่ลดลง ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 21,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการเติบโตที่แข็งแกร่งของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ

โดยในไตรมาส 3 ของปี 2564 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 23,533 ล้านบาท ลดลง 0.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงแรงกดดันต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิภายใต้สภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลง

ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 13,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง การฟื้นตัวของธุรกรรมการค้า และกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์

ด้านความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจ SCB ล่าสุดเมื่อในวันที่ 15 พ.ย. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติเห็นชอบให้ SCB ปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น SCBX 

โดยบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุว่า SCB ปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น  SCBX จะหนุนให้ได้เปรียบคู่แข่งในการขยายธุรกิจที่เป็น Digital ที่เป็นเทรนด์ของอนาคต และจะช่วยให้การขยายธุรกิจด้านต่าง ๆ ทำได้ง่ายมากขึ้น ใน 2 ปี ข้างหน้า ROE มีโอกาสที่จะปรับขึ้นแตะระดับ 15-20%

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเชิงบวกต่อแผนการปรับโครงสร้างโดยตั้ง SCBX เป็นบริษัทโฮลดิ้งส์และเพิกถอนหุ้นด้วย SCBX แบบหุ้นต่อหุ้น 1 : 1 หลังที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 พ.ย. เห็นชอบ การโอนเงินครั้งเดียวมูลค่า 7 หมื่นล้านบาทจาก SCB ไปยัง SCBX สำหรับการโอนธุรกิจสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (70% หรือ 4.9 หมื่นลบ.) และการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นสำหรับ SCBX (30% หรือ 2.1 หมื่นล้านบาท) คาดว่า SCBX จะจ่ายเงินปันผลพิเศษ 5.1-6.2 บาท/หุ้น ในไตรมาส 2/2565 ภายใต้ SCBX

ขณะที่ผู้บริหารตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้ 150% และธุรกิจที่เติบโตจะมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมดภายในปี 2569  นอกจากนี้แผน 5 ปี ผู้บริหารตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 200 ล้านคน ด้วยการร่วมพันธมิตรเชิงรุกและการควบรวมกิจการ จากลูกค้า 40-50 ล้านคน ในปัจจุบัน และยังตั้งเป้าหมายมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป มากกว่า 1 ล้านล้านบาท รวมถึงการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทย่อยและสตาร์ตอัพยูนิคอร์น

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button