TRUE-DTAC คาดสรุป “ดิว ดิลิเจนซ์” Q1/65 ชูรายได้รวม 2.17 แสนลบ. EBITDA แตะ 8.3 หมื่นลบ.

TRUE-DTAC คาดสรุป “ดิว ดิลิเจนซ์” ไตรมาส 1/65 และคาดลงนามในสัญญา หรือข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการทางตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงเข้าสู่กระบวนการทำคำเสนอซื้อต่อไป ในช่วงไตรมาส 2/65


นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ และดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทระหว่างกัน

โดยบริษัทฯ และ TRUE ได้เข้าทำบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (Non -Binding Memorandum of Understanding) เพื่อบันทึกความประสงค์ของคู่สัญญาในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจระหว่างกันด้วยวิธีการควบบริษัท (Amalgamation) รวมถึงกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนของการควบบริษัท

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์ สถานะทางธุรกิจ (Due Diligence) คาดว่าจะจบได้ในไตรมาส 1/2565 จากนั้นในไตรมาส 2/2565 จะสามารถลงนามในสัญญา หรือข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการทางตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงเข้าสู่กระบวนการทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) ต่อไป เพื่อรวมกิจการทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน

นายซิคเว่ กล่าวว่า บริษัทมองว่าการดำเนินธุรกิจากนี้ไปหรือในอีก 20 ปีข้างหน้า จะแตกต่างจากเดิมอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G, AI, IoT, Cloud เป็นต้น จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่บริษัทฯ แต่จะเป็นกับทุกบริษัททั่วโลก ซึ่งเรียกว่า การปฎิวัติเชิงเทคโนโลยี ทำให้บริษัทมีความจำเป็นที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ TRUE เพื่อเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปสู่อนาคต และจะต้องทำในสิ่งที่แตกต่างจากเดิมที่ทำมาในอดีต

ขณะเดียวกัน เทเลนอร์มองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่ดีมากที่จะก้าวไปสู่ดิจิทัลในอนาคตด้วยกัน ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้ในอนาคต ขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ จะสามารถทำให้ผู้บริโภคชาวไทยเข้าถึงดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ DTAC ออกมาประกาศสร้างธุรกิจใหม่

อย่างไรก็ตาม บริษัทใหม่ที่จะก่อตั้งร่วมกัน ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มเทเลนอร์ จะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน และเมื่อรวมกันแล้วจะส่งผลให้มีความแข็งแกร่ง ที่จะเดินหน้าลงทุนในนวัตกรรมระดับโลก รวมถึงบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคคนไทย โดยบริษัทใหม่จะมีขนาดที่ใหญ่มาก รายได้รวมราว 2.17 แสนล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 83,000 ล้านบาท รวมถึงจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงรายได้ราว 40% ใกล้เคียงกับผู้เล่นรายใหญ่ อย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่ยังคงเป็นผู้เล่นรายใหญ่ต่อไป

“นอกจากการเชื่อมโยงกัน เราต้องการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่แข็งแกร่งในประเทศไทย เพราะว่าดิจิทัลของประเทศไทยเป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทใหม่ๆ โดยเรา และ TRUE ก็มีแผนที่จะจัดตั้งกองทุนร่วมกัน มูลค่าประมาณ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล สร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่เรากำลังจะทำก็จะสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลจะทำ คือ การผลักดันนโยบายยุทธศาสตร์ 4.0″ นายซิคเว่ กล่าว

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดึงเอาผู้ประกอบการระดับโลก อย่างกลุ่มเทเลนอร์มาร่วมเป็นพันธมิตรกัน ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศที่สำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 หรือ 5.0 เนื่องด้วยบริษัทเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ซึ่งการเป็นผู้ประกอบการทางด้านโทรคมนาคมมาถึงจุดที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้น้อยมาก หรือมีบทบาทน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมได้เดินทางมาถึงยุคของข้อมูล (Big data) และยังเป็นยุคของเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ซึ่งเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทอย่างมาก คือ AI, ฮาร์ดแวร์ใหม่ ตลอดจนเทคโนโลยีที่จะเข้ามาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ทุกๆ เศรษฐกิจในโลก อย่าง Cloud

“เราได้เล็งเห็นตัวเราทั้งสองบริษัท มีข้อจำกัด ที่เราไม่สามารถเพิ่มมูลค่าต่อได้ ข้อจำกัดที่ว่าเรายังเป็นผุ้ประกอบการที่ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้บริโภคและประเทศไทยได้ แต่เราเห็นบทบาทใหม่ที่สำคัญของเรา คือ เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่จะสร้างเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย โดยระบบนิเวศเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายๆ ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐเข้าลงทุนเทคโนโลยี หรือการดึงดูดการลงทุนในเทคโนโลยี ในเรื่องของเทคสตาร์ทอัพ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ปฎิรูประบบเศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่ๆ” นายศุภชัย กล่าว

บริษัทได้เล็งเห็นถึงบทบาทของบริษัทใหม่ ของการรวมกิจการกันในครั้งนี้ ในการเพิ่มมูลค่าและสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม โดยสิ่งที่จะมุ่งเน้นไปข้างหน้า คือเรื่องของ AI, ดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม, IoT, Cloud รวมถึงเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของการลงทุน

Back to top button