“ศบศ.” เคาะ 4 มาตรการ กระตุ้นศก.ไทย ชูเปิดวีซ่า LTR ระยะยาว

ศบศ. เห็นชอบ 4 มาตรการ เปิดวีซ่า LTR ระยะยาว  ส่งเสริมการลงทุนคลาวด์เซอร์วิส, เทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ  และกองถ่ายตปท. เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้เห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของ สศช. โดยมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้

(1) การกำหนดประเภทการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa: LTR) โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ให้แก่คนต่างด้าวใน 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงานจากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งครอบคลุมคุณสมบัติและแนวทางการยื่นคำขอรับรองคุณสมบัติและคำขอรับการตรวจลงตราวีซ่าประเภท LTR ที่สำคัญ อาทิ

(1.1) วีซ่า LTR จะครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 ปี โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ 5 ปี และยื่นคำขอรับรองคุณสมบัติเพื่อขออยู่ต่อได้อีก 5 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้าออกราชอาณาจักร โดยรวมถึงคนต่างด้าวและผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (อายุไม่เกิน 20 ปี) จำนวนไม่เกิน 4 คน

(1.2) กำหนดให้แจ้งที่พำนักอาศัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อพำนักครบ 1 ปี (จากเดิมที่ต้องดำเนินการทุกรอบ 90 วัน)

(1.3) ได้รับอนุญาตให้ทำงานครั้งละ 5 ปีภายหลังได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร

(1.4) หากมีความประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรด้วยวัตถุประสงค์อื่น ให้สามารถกระทำได้เป็นต้น

โดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ประชุมมอบหมายให้กรมที่ดินเร่งรัดศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ศบศ. พิจารณาโดยเร็วต่อไป

ส่วนการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่ประชุมมอบหมายให้กรมสรรพากรเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ถือวีซ่า LTR โดยมีหลักการที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดให้ชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวกลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ และกลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศและนำเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกัน และการกำหนดให้ชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และได้รับเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร

ขณะที่การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสาร ที่ประชุมมอบหมายให้กรมศุลกากร อำนวยความสะดวกในการจัดทำแนวทางการเดินทางพิเศษสำหรับผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักอาศัยระยะยาว (LTR) เป็นการเฉพาะ โดยจะเทียบเคียงกับสถานะการเดินทางทางการทูต (Diplomatic passport) และมอบหมายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติเป็นการเฉพาะต่อไป

สำหรับการจัดตั้งศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว (LTR-Service center) ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งและบริหารจัดการศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว รวมทั้งครอบคลุมการดำเนินภารกิจในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิงรุกและอำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษาแก่ชาวต่างชาติที่ได้รับวีซ่า LTR เพื่อให้การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

(2) ที่ประชุม ศบศ. ยังเห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยที่ประชุมมอบหมายให้ ให้ BOI หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) แนวทางการดำเนินการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจ และส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศ โดยเฉพาะการให้บริการ Data hosting services แก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ (2) แนวทางการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมกิจกรรม กิจการคลาวด์เซอร์วิสในอนาคต และ (3) แนวทางการสร้างความชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับขอบเขตความรับผิดชอบ รวมถึงการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับบทบาทของผู้ให้บริการภาคเอกชนต่อการพัฒนาบริการคลาวด์ของภาครัฐ และหากได้ข้อยุติแล้ว ให้  BOI เสนอต่อที่ประชุม ศบศ. เพื่อพิจารณาต่อไป

(3) ที่ประชุม ศบศ. ยังเห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพตามข้อเสนอของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดยที่ประชุมมอบหมายให้สภาดิจิทัลฯ หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัพให้แก่ผู้ประกอบการไทย

(4) ที่ประชุมศบศ. เห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ตามข้อเสนอของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานหลักร่วมกันหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการสร้างแรงจูงใจและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศมาถ่ายทำในประเทศไทย รวมทั้งพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมระบบนิเวศและปัจจัยสนับสนุนที่จะช่วยขยายผลไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านอื่น ๆ เพื่อผลักดัน Soft power ของไทยต่อไป

อีกทั้งนายดนุชา กล่าวถึงการสนับสนุนการสร้างภาพยนต์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยการให้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) ของเงินที่นำมาลงทุนใช้จ่ายในประเทศว่า ประเทศไทย Cash Rebate อยู่ที่ 15% แต่ในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย โปแลนด์ อยู่ที่ 30% ซึ่งในที่ประชุมสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้นำเสนอให้มีการปรับ Cash Rebate เป็นขั้นบันไดสูงสุดไม่เกิน 30% โดยกำหนดเป็น หากค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำอยู่ที่ 50-100 ล้านบาท Cash Rebate อยู่ที่ 20% หากค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำอยู่ที่ 100-500 ล้านบาท Cash Rebate อยู่ที่ 25% และ หากค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำเกิน 500 ล้านบาท Cash Rebate อยู่ที่ 30% ซึ่งจะมีกลับไปพิจารณาในรายละเอียดและกลับนำมาเสนอต่อที่ประชุมศบศ.ครั้งถัดไป และเชื่อว่า จะสามารถดึงดูดกองถ่ายทำภาพยนต์จากต่างประเทศเข้ามาได้ รวมทั้งจะมีการปรับปรุงกฏระเบียบบางอย่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับดาราชื่อดังจากต่างประเทศ และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

Back to top button