สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 ธ.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 ธ.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (14 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่พุ่งขึ้นทำนิวไฮในเดือนพ.ย.จะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,544.18 จุด ลดลง 106.77 จุด หรือ -0.30%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,634.09 จุด ลดลง 34.88 จุด หรือ -0.75% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,237.64 จุด ลดลง 175.64 จุด หรือ -1.14%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันอังคาร (14 ธ.ค.) โดยปรับตัวลงเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเฮลท์แคร์ที่ร่วงลง และถูกกดดันจากการที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเปิดตลาดติดลบหลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้นเกินคาด ขณะที่นักลงทุนดูรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธนี้ตามเวลาสหรัฐหรือเช้าตรู่วันพฤหัสบดีตามเวลาประเทศไทย

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 469.56 จุด ลดลง 3.97 จุด หรือ -0.84%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,895.31 จุด ลดลง 47.60 จุด หรือ -0.69%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,453.56 จุด ลดลง 168.16 จุด หรือ -1.08% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,218.64 จุด ลดลง 12.80 จุด หรือ -0.18%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงในวันอังคาร (14 ธ.ค.) เป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และตลาดถูกกดดันจากหุ้นเร็นโทคิลที่ร่วงลง 12.3% ซึ่งเป็นการร่วงลงรุนแรงที่สุดในรอบ 13 ปี

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,218.64 จุด ลดลง 12.80 จุด หรือ -0.18%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (14 ธ.ค.) หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ออกรายงานเตือนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 56 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 70.73  ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2564

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 69 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 73.70 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2564

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์มื่อคืนนี้ (14 ธ.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ย.ของสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 16 ดอลลาร์ หรือ 0.89% ปิดที่ 1,772.3 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 2564

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 40.4 เซนต์ หรือ 1.81% ปิดที่ 21.924 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 13.7 ดอลลาร์ หรือ 1.48% ปิดที่ 910.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 52 ดอลลาร์ หรือ 3.1% ปิดที่ 1,622.70 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ธ.ค.) ขานรับการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนพ.ย.

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.27% แตะที่ 96.5682 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.73 เยน จากระดับ 113.52 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9242 ฟรังก์ จากระดับ 0.9220 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2855 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2795 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1257 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1289 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3220 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3218 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7105 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7138 ดอลลาร์

Back to top button