EPG ส่งซิก Q3 งบสวย ลุ้นยอดขายปี 65 นิวไฮ 1.1 หมื่นลบ. ดันรายได้โต 15%

EPG ส่งซิก Q3 งบสวย ลุ้นยอดขายปี 65 นิวไฮ 1.1 หมื่นลบ. เติบโต 12-15% จากปีก่อนประมาณ 9.5 พันลบ. รับปัจจัยบวกความพร้อมด้านการผลิต, การฟื้นตัวของตลาดโลก


รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการข่าวหุ้นเจาะตลาดทาง Kaohoon TV Online และสถานีวิทยุกระจายเสียง ขส.ทบ. FM 102 MHz ว่า บริษัทฯ มั่นใจผลการดำเนินในปี 2564/2565 (เม.ย.2564-มี.ค.2565) จะนิวไฮ โดยคาดจะมียอดขายประมาณ 11,000 ล้านบาท เติบโต 12-15% จากปีก่อนประมาณ 9,500 ล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564/2565 (เม.ย.-ก.ย.2564) มียอดขาย 5,914.20 ล้านบาท เติบโต 38.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2564/2565 (ต.ค.-ธ.ค.2564) จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยความพร้อมด้านกำลังการผลิต ดังนั้น แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564/2565 (ต.ค.2564-มี.ค.2565) จะเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยการฟื้นตัวของตลาดโลก และตลาดในประเทศ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีขึ้น จากการที่มีวัคซีน ทำให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนต่างๆ มากขึ้น

สำหรับธุรกิจหลักของบริษัทฯ จะมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex, ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas และธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP นอกจากนี้ บริษัทร่วมทุนและการร่วมค้า (Joint Venture) ทำให้มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 60% มีโรงงานในประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย อีกทั้งมี Joint Venture ในประเทศจีน แอฟริกาใต้ รวมถึงญี่ปุ่น ทำให้เกิดการเติบโตขึ้นทั่วโลก และในประเทศไทยก็ดีขึ้น

ด้านธุรกิจ Aeroflex คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพึ่งเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานในสหรัฐอเมริกาอีก 1 เท่า จากเดิมที่มีกำลังการผลิต 4,000 ตันเป็น 8,000 ตัน โดยรวมๆ ก็จะมีกำลังการผลิตประมาณ 34,000 ตัน มีอัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) ประมาณ 55-60%  ส่วน  Aeroklas มี Utilization Rate เกือบ 80% ขณะที่ EPP ดีขึ้นจากการเปิดประเทศ มี Utilization Rate กว่า 60-70%

ส่วนการ  Joint Venture อย่างในประเทศญี่ปุ่น มีการเติบโตมาก โดยเฉพาะยานยนต์ ส่วนที่ประเทศอินเดีย มีการพัฒนา จึงมีการเติบโตขึ้นมา และแอฟริกา เริ่มมีกำไรตั้งแต่ในช่วงไตรมาสก่อน ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) รวมประมาณ 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ในช่วงที่มีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด บริษัทฯ ก็ยังมีเงินทุนจากที่มีกำไรสะสมกว่า 4,000 ล้านบาท มีกระแสเงินสดเก็บไว้กว่า 1,000 ล้านบาท ไว้รองรับในภาวะที่เกิดวิกฤตต่างๆ รวมถึงดูแลบุคลากร โดยใช้หลัก 3 ป. คือ ประโยชน์ ประหยัด และประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้พนักงานได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดี ในการประหยัด แม้ความต้องการซื้อสินค้า (ดีมานด์) จะยังไม่มา แต่บริษัทฯ ก็ยังสามารถทำกำไรได้ ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีการเตรียมความพร้อม มีมาตรการป้องกันอย่างดี พอมีดีมานด์เข้ามาก็สามารถส่งออกได้ตามดีมานด์ของลูกค้าที่เข้ามาพอดี

อย่างไรก็ตามด้วยกระแสเงินสด 1,000 ล้านบาท จึงได้มีการเตรียมงบไว้สำหรับการควบรวมหรือการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ประมาณ 300 ล้านบาท โดยจะเลือกประเภทลงทุนแล้วได้เลย ไม่ต้องรอหรือตั้งใช้ระยะเวลาในการสร้างขึ้นมา แม้จะต้องมีการลงทุนสูงหน่อยก็ตาม

Back to top button