เปิดงบปี 64 กลุ่มแบงก์ฟาดกำไร 1.82 แสนลบ. ตั้งสำรองลดฮวบ!

เปิดงบปี 64 กลุ่มแบงก์ฟาดกำไร 1.82 แสนลบ. โตเฉียด 33% รับตั้งสำรองลดลง รายได้ดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมเพิ่ม โบรกฯ แห่อัพราคาเป้าหมาย พร้อมปรับประมาณกำไรปี 65 เพิ่ม


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่ง ได้รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 4/2564 และงวดปี 2564 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย KBANK,SCB ,BBL ,TTB,TISCO ,KKP ,CIMBT , BAY, KTB และ LHFG โดยในช่วงปี 2564 กลุ่มธนาคารฯ มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 182,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.72% เมื่อเทียบกับปี 2563 อยู่ที่ 138,303 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 38,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.05% เมื่อเทียบจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 29,487 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการลดลงของสํารองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) จำนวน 3,216 ล้านบาท หรือ 7.38% โดยธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองฯ ในปี 2564 จำนวน 40,332 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นสํารองฯ ภายใต้หลักความระมัดระวัง รวมทั้งมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 7,822 ล้านบาท หรือ 6.13% หลักๆ เกิดจากการให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคารแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ (21 ม.ค.2565) ว่า ภาพรวมกำไรสุทธิทั้งปี 2564 ของ KBANK อยู่ที่ 38,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบจากปี 2563 นั้นดีกว่าที่บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดการณ์ไว้ 11% ทั้งนี้อยู่ระหว่างทบทวนประมาณการกำไร และราคาเป้าหมาย ซึ่งอาจมีการปรับปรับมาณการกำไรเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับทิศทางค่าใช้จ่ายสำรองลดลง เบื้องต้นยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น KBANK ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 175 บาท

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 35,599 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.79% เมื่อเทียบจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 27,218 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความสามารถในการทำกำไรจากของธุรกิจที่ดีขึ้น โดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 55,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.3% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลของการรับรู้กำไรตามราคาตลาดในปัจจุบันของพอร์ตการลงทุนของธนาคารและบริษัทในเครือ และการขยายฐานรายได้ที่แข็งแกร่งของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 63,547 ล้านบาท ลดลง 1.2% จากปีก่อน เป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถควบคุม ค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นเป็น 42.3%

รวมทั้งการตั้งเงินสำรองที่ลดลง โดยได้ได้ตั้งสำรองจำนวน 42,024 ล้านบาท ลดลง 9.9% จากปีก่อน ภายหลังที่ธนาคารได้ตั้งสำรองในระดับสูงกว่า สภาวะปกติในปีก่อน

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ (21 ม.ค.2565) ว่า ภาพรวมกำไรสุทธิทั้งปี 2564 ของ SCB ที่ 35,599 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.79% เมื่อเทียบจากปี 2563 นั้น ใกล้เคียงกับที่บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้บล.โนมูระ พัฒนสิน มีแนวโน้มจะปรับประมาณการกำไร และราคาเป้าหมายปี 2565 เพิ่มขึ้น เพื่อสะท้อนต่อเป้าหมาย Credit cost ที่ <140 bps ซึ่งดีกว่าสมมติฐานที่ 155bps ส่วนเป้าหมายด้านอื่นๆ ใกล้เคียงกับสมมติฐานเดิม เบื้องต้นยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น SCB ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 150 บาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 33,794 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.68% เมื่อเทียบจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 23,040 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการกำไรพิเศษจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นใน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ในไตรมาส 2/2564 ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 12,243 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.5 จากปี 2563 ทั้งนี้หากไม่รวมรายการพิเศษกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติอยู่ที่จำนวน 25,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 หรือจำนวน 2,569 ล้านบาท จากปี 2563

รวมทั้งการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงเหลือ 31,604 ล้านบาท ลดลง 13.8% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ตั้งสำรอง 36,644 ล้านบาท

ด้านบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ (21 ม.ค.2565) ว่า BAY รายงานกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 3.38 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.7% เมื่อเทียบจากปี 2563 ถึงแม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยจะลดลง จากผลตอบแทนสินเชื่อลดลง แต่กำไรจากการขายหุ้น TIDLOR รวมไปถึงการตั้งสำรองที่ลดลงทำให้กำไรเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ได้ปรับประมาณกำไรปี 2565 ขึ้นเป็น 3.09 พันล้านบาท  จากผลตอบแทนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาด และลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลงมา แต่กำไรยังลดลง 8.6% เมื่อเทียบจากปี 2564 เนื่องจากปี 2565 จะไม่มีกำไรพิเศษเหมือนปี 2564 และปรับราคาพื้นฐานขึ้นเป็น 39.50 บาท มีส่วนต่างมากขึ้น จึงปรับเพิ่มคำแนะนำขึ้นเป็น “ทยอยซื้อ”

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 26,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.28% เมื่อเทียบจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 17,181 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.60 จากปีก่อน เป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตาเต็มปี และการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากการบริหารต้นทุนเงินรับฝาก ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.10

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.70 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากธุรกิจหลักทรัพย์ การอำนวยสินเชื่อและบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวม รวมถึงการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ (21 ม.ค.2565) ว่า มีมุมมอง Neutral ต่อกำไรสุทธิไตรมาส 4/2564 ที่ 6.32 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับที่คาด โดยกำไรเพิ่มขึ้น 164% เมื่อเทียบจากปี 2563 หนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อ 9.2% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน กำไรเงินลงทุน และมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลง ยังคงประมาณการกำไรปี 2565 ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบจากปีก่อน หนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อ และ Credit cost ที่ลดลง ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” และคงราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 165 บาท อย่างไรก็ดี BBL จะจัดประชุมนักวิเคราะห์ 3 ก.พ. 2565

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 21,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.03% เมื่อเทียบจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 16,732ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรเพิ่มขึ้น จากสินเชื่อที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งถึงร้อยละ 12.6 จากสิ้นปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มระดับของ Coverage ratio ให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 168.8  จากร้อยละ 147.3 ณ สิ้นปี 2563 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ มีการบริหารจัดการและควบคุม คุณภาพสินทรัพย์ได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมี NPLs Ratio Gross อยู่ที่ร้อยละ 3.50 ลดลงจากร้อยละ 3.81 ณ สิ้นปีที่ผ่านมา โดยธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 32,524 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลงร้อยละ 27.6 จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน แต่ยังเป็นการตั้งสำรองในระดับที่สูง

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 10,474 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.58% เมื่อเทียบจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 10,112 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 31,219 ล้านบาท รวมทั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) อยู่ที่จำนวน 21,514 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.4 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ธนาคารยังคงตั้งสำรองในระดับสูงภายใต้แบบจำลอง ECL ที่พิจารณาถึงความเสี่ยงในอนาคตเพื่อรักษาระดับเงินกองทุนที่เพียงพอ พร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต รวมถึงผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือที่จะสิ้นสุดลงในปีนี้

ด้านบล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ (21 ม.ค.2565) ยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น TTB แต่ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 1.80 บาท จากการปรับกำไร และ rerate PBV เพิ่มขึ้น เพื่อสะท้อนการเติบโตของกำไรที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่มธนาคาร โดย TTB ประกาศกำไรไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 2.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อร มากกว่าที่ตลาดและบล.เคทีบีเอสที คาด

ทั้งนี้ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2565-2566 เพิ่มขึ้น 7-8% จากการปรับ Credit Cost ลดลง เพื่อสะท้อนการตั้งสำรองฯ ลดลง ทำให้ได้กำไรสุทธิปี 2565 ที่ 1.28 หมื่นล้านบาท เติบโตได้ถึง 23% เมื่อเทียบจากปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตสูงสุดในกลุ่มธนาคาร เพราะจะไม่มีค่าใช้จ่ายด้าน Integration อีกแล้ว และจะเห็น Revenue synergy เด่นชัดขึ้นโดย TTB จะเริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูงเพิ่มขึ้นอย่างสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งจะมีการ launch mobile application ที่สามารถต่อยอดธุรกิจเช่าซื้อได้อย่างครบวงจรใน App เดียว ในช่วงไตรมาส 1/2565

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 6,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.84% เมื่อเทียบจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 6,063 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจตลาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจจัดการกองทุน การรับรู้กําไรจากเงินลงทุน และสํารองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่ลดลง โดยในปี 2564 บริษัทมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัวร้อยละ 9.7 จากปีก่อนหน้า เป็นรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.2 ซึ่งมาจากการออกกองทุนใหม่ที่ได้รับการตอบรับที่ดี ประกอบกับคาธรรมเนียมตามผลประกอบการ (Performance Fee) ที่รับรู้ในไตรมาส 4 รวมทั้งรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น

ด้านบล.ไทยพาณิชย์ ระบุในบทวิเคราะห์ (17 ม.ค.2565) ว่า ผลประกอบการไตรมาส 4/2564 ของ TISCO ออกมาดีเกินคาด หลักๆ เกิดจากการตั้งสํารองตํ่ากว่าคาดเนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ดีกว่าคาด ส่วนในปี 2565 คาดว่ากำไรจะเติบโตเล็กน้อยที่ 3% เนื่องจากสินเชื่อจะกลับมาเติบโต NIM จะขยายตัว และ credit cost จะลดลลง

ทั้งนี้ยังคงเรทติ้ง NEUTRAL สำหรับ TISCO และปรบราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นจาก 95 บาท สู่ 98 บาท เนื่องจากปรับประมาณการกำไรปี 2565 เพิ่มขึ้น 5% เพื่อสะท้อนผลประกอบการไตรมาส 4/256 และเป้าหมายของบริษัท อีกทั้งคาดว่า TISCO จะให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลปี 2564 ที่น่าสนจในระดับ 7.2% แต่เชื่อว่าประเด็นนี้สะท้อนราคาหุ้นไปค่อนข้างมากแล้ว

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 6,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.32% เมื่อเทียบจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 5,123 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นในส่วนของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.40 โดยหลักจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่ปรับเพิ่มขึ้นจากธุรกิจ Private Wealth Management รายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ รายได้จากธุรกิจวานิชธนกิจ รวมถึงรายได้จากธุรกิจการจัดการกองทุนที่ต่างปรับขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 7 จากปริมาณสินเชื่อที่มีการขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายได้จากการดำเนินงานอื่นๆปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ (21 ม.ค.2565) ว่า มีมุมมอง Positive ต่อกำไรสุทธิไตรมาส 4/2564 ที่ 2.02 พันล้านบาท ดีกว่าที่บล.โนมูระ พัฒนสิน คาด 33% โดยกำไรที่เพิ่มขึ้น 83% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน ได้แรงหนุนจากสินเชื่อขยายตัว 16% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนในทุกกลุ่ม, รายได้ Non-NII เติบโตจากค่าธรรมเนียม และมีรายได้พิเศษจากการขาย NPL ราว 1.2 พันล้านบาท, สำรองลดลงเมื่อเทียบจากปีก่อน และผลขาดทุรถยึดลดลงเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ได้ปรับประมาณการกำไรปี 2565-2566 เพิ่มขึ้น 16%/6% จากการปรับสมมติฐานรายได้ดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียม ทำให้กำไรปี 2565 อยู่ที่ 7.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น  14% เมื่อเทียบจากปีก่อน ปรับคำแนะนำต่อ KKP เป็น “ซื้อ” และปรับราคาเป้าหมายปี 2565 ขึ้นเป็น 80 บาท

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 2,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.11% เมื่อเทียบจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 1,291 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 8.1% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 25.7% สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.7% ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 4.6% สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2564 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้

บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 1,384  ล้านบาท ลดลง 32.73% เมื่อเทียบจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 2,057 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรลดลง ปัจจัยหลักเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อ CTBC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เมื่อเดือนกันยายน 2564 ทำให้บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทย่อยของ CTBC ซึ่ง CTBC เห็นว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนายังมีอยู่อย่างต่อเนื่องจึงมีความเห็น ให้ธนาคารตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจากจำนวน 1,738.0 ล้านบาท ในงวด 9 เดือน ของปี 2564 เป็น 3,283.8 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 เพื่อสร้างความมั่นใจในการดำเนินกลยุทธ์ในปี 2565

รวมทั้งธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 2,636.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.8 เมื่อเทียบกับปี 2563 ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของกำไรจากเงินลงทุน

Back to top button