PACO ฟอร์มสวยปี 64 กำไรแตะ 108 ลบ. ส่งซิกปี 65 โตต่อ ชู 3 กลยุทธ์ดันธุรกิจเด่น

PACO ฟอร์มสวยปี 64 กำไรโต 40% แตะ 108 ลบ. จ่ายปันผล 0.05 บ./หุ้น ชู 3 กลยุทธ์ทั้ง REM + OEM + OES ขยายทั้งในปท.-ตปท. เสริมศักยภาพผู้นำธุรกิจอะไหล่รถยนต์ครบวงจร


นายสมชาย เลิศขจรกิตติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PACO เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความยินดีที่จะรายงานผลประกอบการประจำปี 2564 ที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งบริษัทฯ มีรายได้รวม 696.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากรายได้รวม 667 ล้านบาทในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 108 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 77 ล้านบาทในปีก่อน โดยรายได้และกำไรสุทธิของ PACO เติบโตดีขึ้นตามอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง และการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเร็ว

รวมทั้งบริษัทฯ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนการผลิตได้ดี อีกทั้งสามารถขึ้นราคาสินค้าเพื่อรักษาอัตรากำไรได้อย่างสม่ำเสมอ โดย  PACO มีอัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใน ปี 2564 นี้  อัตรากำไรสุทธิของ PACO อยู่ที่ 14.80% ซึ่งนับเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ค่อนข้างสูงเนื่องจาก PACO เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เน้นตลาดอะไหล่ทดแทน (Aftermarket Parts) จึงสามารถกำหนดราคาขายสินค้าได้เอง และมีการแข่งขันด้านราคาที่ไม่มาก

ทั้งนี้คณะกรรมการมีมติให้เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2565 เพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดสรรเงินทุนสำรองตามกฎหมาย และจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงาน ประจำปี 2564 และรับทราบการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 โดยจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงาน ประจำปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งถือหุ้นรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,000,000,000 หุ้น ในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท รวมเป็นเงินปันผลจ่ายในครั้งนี้ จำนวน 50,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 48.87 ของกำไรสุทธิ ซึ่งเงินปันผลดังกล่าวจะจ่ายจากกำไรสุทธิ

สำหรับการจ่ายเงินปันผลดังกล่าว ให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นตามรายชื่อที่ปรากฎ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 (การให้สิทธิในการรับเงินปันผลดังกล่าว ยังไม่มีความแน่นอน เนื่องจากต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565) ทั้งนี้เห็นสมควรเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2565 รับทราบการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.03 บาท ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งถือหุ้นรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,000,000,000 หุ้น รวมเป็นเงินปันผลจ่ายในครั้งนี้จำนวน 30,000,000 บาท และบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลดังกล่าวนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564

โดย PACO ได้ปรับใช้กลยุทธ์ธุรกิจใหม่ มุ่งเน้น  3 ธุรกิจคือ “REM + OEM + OES” โดย REM หรือ ผลิตและจำหน่ายอะไหล่ทดแทน คือธุรกิจหลักมากว่า 30 ปี และ PACO ได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจ OEM- รับจ้างผลิตชิ้นส่วนหลักให้บริษัทรถยนต์ และ OES- รับจ้างผลิตอะไหล่ให้กับกลุ่มรถยนต์ต่างๆ

อนึ่งเมื่อช่วงปลายปี 2564 PACO ประสบความสำเร็จในการรับงานรับจ้างผลิตชิ้นส่วนให้ผู้ผลิตรถยนต์ (OEM & OES) ซึ่งลูกค้าใหญ่รายแรก คือ กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่มุ่งเน้นรถยนต์ไฟฟ้า ประเภท EV และ Plug-in Hybrid ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง PACO ได้รับออเดอร์มูลค่าถึง 1,200 ล้านบาท ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงรองรับกว่า 5 ปี สำหรับธุรกิจชิ้นส่วนหลัก (OEM) และ รองรับรายได้ 10 ปีสำหรับธุรกิจรับจ้างผลิตอะไหล่ (OES) ยิ่งกว่านั้น บริษัทฯ ได้รับการติดต่อจากผู้ผลิตหลายแห่ง เพื่อนำเสนองานรับจ้างผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์และชิ้นส่วนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ มองเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ OEM ที่ชัดเจน มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อีกทั้งการทยอยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ จำนวนมากของค่ายรถยนต์เข้าสู่ตลาด และ PACO มีไลน์การผลิต อุปกรณ์เครื่องจักรมาตรฐานสากล พร้อมผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม อีกทั้งมีคู่แข่งน้อยรายในธุรกิจ จึงเชื่อมั่นว่า PACO มีโอกาสรับงานรับจ้างผลิต OEM ได้อีกจำนวนมาก ล่าสุด PACO ได้รับงานใหม่ ธุรกิจ OES จาก บริษัท ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ผู้ประกอบรถยนต์รายใหญ่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นงานผลิตแอร์รถยนต์แบบครบวงจร เพื่อนําไปรองรับการซ่อมหรือเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์ตามศูนย์บริการรถยนต์ (Original Equipment Spare Parts) หรือ OES ในออเดอร์ครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้หนุนยอดการผลิตเพิ่มมากขึ้น และรายได้ธุรกิจ OES จะเติบโตขึ้นกว่า50%  ทั้งนี้คาดจะเริ่มรับรู้รายได้เข้าตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 เป็นต้นไป” นายสมชายกล่าว

อย่างไรก็ดี PACO คาดว่าปี 2565 รายได้รวมจะเติบโตต่อเนื่องประมาณ 20-25% โดยมาจากการเติบโตของธุรกิจหลัก REM ที่ขยายทั้งตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว  และจากตลาดในประเทศที่ จำนวนสาขา PACO Auto Hub เพิ่มขึ้นเป็น 300 สาขา และ มีกลุ่มสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ หม้อน้ำรถยนต์ คอมเพรสเซอร์แอร์รถยนต์ อะไหล่ช่วงล่างรถยนต์ ออยล์คูลเลอร์ ไดชาร์จ และไดสตาร์ท เป็นต้น รวมไปถึงขยายไลน์แอร์รถยนต์ในกลุ่มรถหรู (Luxury Cars)

ขณะเดียวกันรายได้จากธุรกิจใหม่ OEM จะเริ่มเข้ามาเป็นปีแรก หลังจากเพิ่งได้รับงานเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะในปีหน้า กอรปกับตลาดรถยนต์ไทยและตลาดส่งออกหลักของบริษัทฯ คือประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าปีนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ จะเติบโตได้ตามเป้าหมาย”

สำหรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (EV) PACO ได้ผลิต แบตเตอรี่คูลเลอร์ ซึ่งเป็น 1 ในชิ้นส่วนสำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV และ PHEV (Plug-in Hybrid) ซึ่ง PACO ได้ผลิต แบตเตอรี่คูลเลอร์ สำหรับ Tesla ซึ่งเป็น แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก สำหรับรุ่น Tesla Model X และ Tesla 3 ตลอดจน รถยนต์ Plug-in Hybrid แบรนด์ BMW Series 3 และ Series 5 รุ่นปัจจุบัน (G20 และ G30) ซึ่งได้รับความนิยมสูงทั่วโลก โดย PACO เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทดแทนรายแรกของไทย ที่เริ่มเปิดตลาดแบตเตอรี่คูลเลอร์ ทั้งตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ จากการที่ภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยกลับมาดีขึ้น โดยบริษัทฯ ยังคงที่จะมุ่งพัฒนาและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่หลากหลาย

Back to top button