“เทิดศักดิ์” มองสงคราม “ยูเครน-รัสเซีย” กระทบไทยจำกัด ชี้จังหวะซื้อ-ฟันด์โฟลว์เข้าต่อ

“เทิดศักดิ์” มองสงคราม “ยูเครน-รัสเซีย” กระทบหุ้นไทยจำกัด เนื่องจากการค้าไทยกับรัสเซียมีไม่มาก ฟันด์โฟลว์ยังคงไหลเข้าต่อเนื่อง ชี้จังหวะซื้อหลังดัชนีอ่อนตัว แนะนำลงทุน 5 กลุ่ม ประกอบด้วย แบงก์, ค้าปลีก, วัสดุก่อสร้าง, เปิดเมือง และไอซีที


นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ บล.เอเซีย พลัส กล่าวในงานสัมมนา “รัสเซีย-ยูเครน ส่อประทุ ผู้ลงทุนควรตั้งรับอย่างไร” ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนมีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจต่อประเทศไทยไม่มากนัก เนื่องจากประเทศไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 26 ของรัสเซีย โดยมีสัดส่วนการค้า 0.8% ซึ่งการส่งออกส่วนใหญ่ของประเทศไทย คือ กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วน เครื่องจักร และผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ

ด้านนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่เข้ามายังประเทศไทยคิดเป็น 3.77% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นราว 5.37% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทยค่อนข้างจำกัดหากสถานการณ์ไม่ลุกลามขยายวงไปเป็นสงครามโลก ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

โดยหากประเมินจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตช่วงวันที่ 21 ก.พ.-26 มี.ค.2557 มีผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นรัสเซีย และตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว แต่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือในเอเชีย ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ทั้งนี้ในสถานการณ์รอบนี้ช่วงวันที่ 1-22 ก.พ.65 ดัชนีตลาดหุ้นรัสเซียร่วงลงไปถึง 14.9% ขณะที่ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็ลดลงไปค่อนข้างมากเช่นกัน แต่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังได้รับผลกระทบไม่มากนัก และมองว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้น่ากลัวมาก เนื่องจากการค้ากับรัสเซียมีไม่มาก ขณะที่เงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้ามาในภูมิภาคและไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นยังมีผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหุ้นกลุ่ม Commodity มีน้ำหนักค่อนข้างมากในตลาดหุ้นไทย

ขณะที่ค่าเงินบาทในปัจจุบันยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการไหลเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะทั้งในตลาดพันธบัตรรัฐบาล หรือในตลาดหุ้นไทยที่ในเดือน ก.พ.มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาสูงถึง 57,565 ล้านบาท และมองว่ายังคงมีโอกาสที่จะไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงต่อจากนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจแบบดั้งเดิม (Old Economy) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้มอง Downside ของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ที่ 1,675 จุด แต่หากยืนไม่อยู่จะมีแนวรับถัดไปที่ 1,650 จุด และ 1,630 จุด แต่หากมอง Upside ให้ไว้ที่ 1,810 จุด และหากสถานการณ์ต่างๆ ดีมากก็มีโอกาสที่ SET Index จะขึ้นไปถึง 1,860 จุด แต่อย่างไรก็ตามระยะสั้นยังคงมีปัจจัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียกดดันอยู่

โดยแนะนำกลยุทธ์การลงทุนว่าหากดัชนีปรับตัวลดลงเป็นระยะเวลาเหมาะสมในการเข้าซื้อ โดยให้น้ำหนักการลงทุนไปในกลุ่มแบงก์ BBL, KBANK ค้าปลีกที่มีการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ MAKRO ,CPALL, BJC กลุ่มวัสดุก่อสร้างหลังภาครัฐเตรียมอัดฉีดไปด้านการลงทุนภาครัฐเพิ่มมากขึ้น SCC กลุ่มเปิดเมือง AOT และกลุ่มไอซีที DTAC, ADVANC แนะหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีราคาปรับตัวขึ้นเกินพื้นฐาน

X
Back to top button