GCAP ส่งซิกปี 65 สดใส เล็งศึกษาธุรกิจใหม่เพิ่มมูลค่า-กระจายเสี่ยง หนุนรายได้โตระยะยาว

GCAP เปิดกลยุทธ์ปี 65 ตั้งธงภาคเกษตรยังเป็นลูกค้าหลัก เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และเปิดโอกาสศึกษาหาธุรกิจใหม่ เพิ่มมูลค่า ลดความเสี่ยง สร้างสมดุลของโครงสร้างรายได้ระยะยาว


นายอนุวัตร โกศล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GิCAP เปิดเผยถึงแผนธุรกิจปี 2565 ว่า กลยุทธ์ในปีนี้ของ GCAP ยังคงมุ่งเน้นที่กลุ่มเกษตรกรเป็นลูกค้าหลัก เนื่องจากภาคการเกษตรของไทยเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และเป็นธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญและทำได้ดีมาโดยตลอด

สำหรับปีนี้ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อ โดยมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเงินกู้  อยู่ในระดับ 90% และ 10% เปลี่ยนแปลงจากปี 64 ซึ่งอยู่ที่ 77% และ 23% ตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัทยังมีมาตรการลดรายจ่าย การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์การคัดกรองลูกค้า และคุณภาพของสินเชื่อ

นอกจากนี้ในการอนุมัติสินเชื่อรายใหม่ บริษัทได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และพิจารณาลูกค้าในมิติต่างๆ ให้รอบด้านมากขึ้น  เช่น รายได้ ความสามารถในการชำระ โอกาสที่จะผิดนัดชำระ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพลูกหนี้ของบริษัทดีขึ้น และช่วยลด NPL ได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

ขณะเดียวกัน GCAP ไม่หยุดนิ่งที่จะหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม ปัจจุบันได้ศึกษาการสร้างรายได้ในด้านอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างสมดุลของโครงสร้างรายได้ให้มากขึ้น รวมถึงการสร้างรายได้จากบริการอื่นๆ จากฐานลูกค้าปัจจุบัน และการเปิดรับพันธมิตรใหม่ที่สนใจจะเข้าร่วมทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากธุรกิจให้บริการสินเชื่อ

ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนความเชื่อมั่นและตอบแทนผู้ถือหุ้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผล สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท คิดเป็นเงินรวม 30.00  ล้านบาท  โดยกำหนดวันปิดสมุดทะเบียน รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่  14 มีนาคม  2565 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 10 พฤษภาคม 2565

สำหรับผลประกอบการปี 2564 ของบริษัท ขาดทุนสุทธิ 58.67 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยบริษัทมีรายได้อยู่ที่ 253.53  ล้านบาท ลดลง 76.58 ล้านบาท หรือ 23 % เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีรายได้รวม 330.11 ล้านบาท ในขณะที่ยอดปล่อยสินเชื่อในปี 2564 อยู่ที่ 403.37 ล้านบาท โดยผลขาดทุนที่เกิดขึ้น เกิดจากผลขาดทุนของเงินลงทุนในบริษัท สบายใจมันนี่ จำกัด จำนวน 25.5 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการตั้งด้อยค่า ลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อ และ ลูกหนี้สินเชื่อเงินกู้ ในปี 2564 จำนวน 58.47 ล้านบาท

ด้านความคืบหน้าของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการสร้างสนามบิน “เกาะเต่า” จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างช่วงการศึกษาเตรียมการ โดยเกาะเต่านับว่าเป็นอีก 1 ในจุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกรวมถึงนักท่องเที่ยวไทย ปัจจุบันการเดินทางไปยังเกาะเต่า ใช้เวลาค่อนข้างนาน การเดินทางไม่ค่อยสะดวกมากนัก หากมีสนามบินจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวได้สะดวกมากขึ้น และเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจได้อีกด้วย

โดยคาดว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนงาน จะสามารถเปิดใช้งานสนามบินได้ภายในปี 2565 ถือเป็นการต่อยอดจากกลุ่มลูกค้าของบริษัท ที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และต้องการสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน โดยบริษัท ในฐานะผู้ให้บริการทางด้านสินเชื่อก็พร้อมที่จะสนับสนุนลูกค้า หรือจะเป็นพันธมิตรใหม่ที่จะเข้ามาร่วมสร้างโอกาสทางธุรกิจรองรับสถานการณ์วิกฤตที่เชื่อว่าจะดีขึ้นหลังจากนี้

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมขอเสนอผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (E-EGM) ในวันที่ 3 มีนาคม นี้ เรื่องการขออนุมัติเพิ่มทุนของบริษัท จำนวน 46,296,296.50 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 150,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 196,296,296.50 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 92,592,593 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพของหุ้นกู้แปลงสภาพ ในวงเงิน 500,000,000 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง

ได้แก่ Advance Opportunities Fund (“AO Fund”) และ Advance Opportunities Fund 1 (“AO Fund 1”) ซึ่งบอร์ดได้มีมติอนุมัติมาเรียบร้อยแล้ว และจะนำเข้าขออนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 3 มีนาคม 2565 เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท รวมถึงการปล่อยสินเชื่อที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัท

โดยเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในโครงสร้างทางการเงิน รวมทั้งใช้เงินดังกล่าวเพื่อขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจ อันจะช่วยเสริมสร้างรายได้และผลกำไรให้กับบริษัท ในอนาคต

Back to top button