BJC ลั่นรายได้ปี 65 ทะลุ 1.7 แสนลบ. วางงบ 1.5 หมื่นลบ. ขยายสาขาบิ๊กซี

BJC ลั่นรายได้ปี 65 ทะลุ 1.7 แสนลบ. วางงบลงทุน 1.4-1.5 หมื่นลบ. เดินหน้าขยายสาขาบิ๊กซีเป็นหลัก ลงทุนปรับพื้นที่จอดรถบางส่วน รองรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ทยอยปรับขนส่งสินค้าเป็นรถไฟฟ้า หวังลดต้นทุน


นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายปี 2565 เติบโตเป็นอันดับตัวเลข 2 หลัก ซึ่งอาจมีโอกาสทำให้รายได้ปีนี้เติบโตทะลุ 170,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แม้ว่าจะยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้มีมาตรการล็อกดาวน์ออกมาอย่างเช่นในปีที่ผ่านมา ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังคงสามารถทำได้ปกติ ส่งผลให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพและมีรายได้เข้ามา ทำให้มีกำลังซื้อฟื้นขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการจับจ่ายใช่สอยที่ฟื้นตัว และส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวให้กับบริษัท

ขณะเดียวกันในปีนี้บริษัทยังคงมีการเดินหน้าขยายสาขาใหม่และธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น สาขา Big C รูปแบบ Hyper Market 2-3 สาขา ในไทย ลาว และกัมพูชา, Big C Food Place ขยายเพิ่มอีก 5 สาขา, Big C mini จะเปิดสาขาใหม่ในไทย 150-300 สาขา และกัมพูชาอีก 50 สาขา โดย ณ สิ้นปี 2565 จะมีสาขาของ Big C ทั้งสิ้น 1,713 สาขา จากปีก่อนที่ 1,572 สาขา

ทั้งนี้ ในส่วนของร้านขายยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในปีนี้จะเปิดสาขาร้าน Pure 7 สาขา และ SiriPharma อีก 2 สาขา หลังจากปีก่อนเปิดไปแล้ว 1 สาขาที่พรานนก

นอกจากนี้บริษัทฯวางงบลงทุนรวมในปี 2565 ราว 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่กว่า 70% จะใช้รองรับการขยายสาขาของ Big C เป็นหลัก พร้อมกับการลงทุนปรับพื้นที่จอดรถบางส่วนมารองรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการทยอยปรับเปลี่ยนรถยนต์ที่ให้บริการขนส่งสินค้าของ Big C มาเป็นรถไฟฟ้า เป็นไปตามเทรนด์ของโลก เนื่องจากบริษัทมองว่าลูกค้าจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น หลังจากราคาน้ำมันในปัจจุบันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเร่งให้เร็วขึ้น และบริษัทเองก็คำนึงถึงด้านต้นทุนการขนส่ง ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเข้ามาช่วยบริษัทในการลดต้นทุนการขนส่งได้ค่อนข้างมาก

สำหรับผลกระทบของราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจจะมีผลต่อต้นทุนในการผลิตขวดแก้วของบริษัท แต่บริษัทก็ได้มีการส่งต่อราคาต้นทุนที่สูงขึ้นไปกับราคาขายขวดแก้วตั้งแต่ตอนทำสัญญากับลูกค้าไว้แล้ว ทำให้ยังสามารถขายขวดแก้วได้ในระดับราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้ และไม่กระทบต่ออัตรากำไร (มาร์จิ้น) ของการผลิตนายอัศวิน กล่าว

ดังนั้น ส่วนการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคอื่นส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตเป็นหลัก แต่ในเรื่องต้นทุนของการขนส่งบริษัทยังคงมีการเตรียมความพร้อมในด้านราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม บริษัทยอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นของราคาสินค้าต่างๆ หลังราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อและความมั่นใจของผู้บริโภคให้ชะลอตัวลง โดยเริ่มเห็นสัญญาณของการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัวลงในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2565 ซึ่งอาจจะมีผลมาถึงแนวโน้มของยอดขายในช่วงเดือนนี้ให้ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน

Back to top button