GGC มั่นใจรายได้ปี 65 โตต่อ เดินหน้าปรับปรุงโรงงาน – จัดหาวัตถุดิบทางเลือกเพิ่ม

GGC เดินหน้าปรับปรุงโรงงานเพื่อช่วยลดต้นทุน และการจัดหา Feed Stock ทางทางเลือก หวังผลักดันรายได้ปี 65 โตกว่าปีก่อน


นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์รายได้รวมปี 65 เติบโตกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ 20,995.23 ล้านบาท เนื่องจากได้มีการปรับปรุงโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนลง และประสบความสำเร็จในการจัดหา Feed Stock ทางเลือกมากขึ้น จากเดิมที่ใช้ของ CPO A ก็มองหา CPO B ที่มีราคาที่ถูกลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านราคา ให้มีการแข่งขันได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ภาวะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) และราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น บริษัทยืนยันว่าไม่มีปัญหาในเรื่องของการสต็อกสินค้า เนื่องจากมีการบริหารจัดการสต็อกได้อย่างเหมาะสม หรือไม่สูงและต่ำจนเกินไป จากการผลิตที่ค่อนข้างนิ่ง ซึ่งปัจจุบัน GGC มีปริมาณสินค้าคงคลังราว 25 วัน ส่วนด้านการตลาดก็มีการประสานงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยมีการทำงานร่วมกันและนำเสนอวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ประโยชน์กับลูกค้าของ GGC และประโยชน์ในการทำธุรกิจร่วมกันด้วย

สำหรับปัจจัยที่จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปีนี้ ได้แก่ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 3.9% (เป็นตัวเลขก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน), Feed Stock ราคามีความผันผวน แต่บริษัทมีการบริหารจัดการได้ดี, การแข่งขันที่รุนแรง และราคาเอทานอล ยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล แต่คาดว่าปีนี้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในปัจจัยลบก็ยังมีปัจจัยบวกอยู่ ซึ่งบริษัทฯ ก็เตรียมนำดิจิทัลมาปรับปรุงการผลิต รวมทั้งคิดวิธีการใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยอยู่ระหว่างการศึกษา

โดยนายไพโรจน์ กล่าวว่า ด้านโครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 1 ปัจจุบันได้เริ่มเดินเครื่องแล้ว และเริ่มหีบอ้อยแล้วประมาณ 2 แสนตัน โดยระยะต่อไปจะดำเนินการผลิตเอทานอล โดยจะผลิตได้ปลายเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่ารายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ก็น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ แต่บริษัทยังไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้ เนื่องจากขอดูการดำเนินธุรกิจของโรงงานก่อน

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 65 บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างรากฐานที่เข้มแข็ง  สร้างความสามารถในการแข่งขันในอนาคต เพื่อก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับสากล ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ

1.ยุทธศาสตร์การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Strengthen Business as Usual – BAU) เพื่อให้ธุรกิจของบริษัทฯ มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขันในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายบริษัทฯ ต้องเร่งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและมีความยืดหยุ่น (Resilience) และสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง โดยมุ่งเน้นการสร้างฐานตลาดและการขายให้เข้มแข็ง, การบริหารจัดการด้าน Supply Chain ให้มีประสิทธิภาพโดยบริหารจัดการต้นทุนได้ดีที่สุด และมุ่งเน้นการรักษาความมั่นคงด้านการผลิต (Plant Reliability) รวมถึงความเป็นเลิศด้านปฏิบัติการ (Operational Excellence)

2.ยุทธศาสตร์การเติบโตในธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Growth Portfolio) ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีการแข่งขันสูง บริษัทฯ พิจารณาการต่อยอดทางธุรกิจไปสู่ด้านเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพมากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันทางธุรกิจและสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงการตอบรับกับโอกาสทางธุรกิจจากแนวทางและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ชีวภาพ (Biochemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของ GC Group

3.ยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ (Sustainability Development) บริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสที่จะยกระดับการดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างจริงจังและมีการเชื่อมโยงโอกาสและต่อยอดทางธุรกิจมากขึ้น โดยการเป็นต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ทั้ง 3 มิติ (BCG Role Model)ผ่านการลงทุนในนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ การใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization Pathway)และการปรับรูปแบบการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทฯ (CSR) สู่รูปแบบการสร้างสมดุลทางธุรกิจขององค์กรด้วยการพัฒนากิจกรรม/โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน (CSV & SE Model) โดยใช้ Governance, Risk Management and Compliance (GRC) มาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการจัดการภายใน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายองค์กร

นอกจากนี้บริษัทฯ มุ่งพัฒนาสร้างรากฐานที่เข้มแข็งและเพิ่มความสามารถในอนาคต ดังนี้

1.ความเป็นเลิศด้านปฏิบัติการ (Operational Excellence) : Plant reliability ให้อยู่ในระดับ 1st quartile, การใช้ Digitalization สนับสนุนการปฏิบัติงานของบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) : การรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด  การต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ผ่านกลุ่มสินค้า Home and personal care

3.การเติบโตในธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Growth Portfolio) : การเพิ่มมูลค่าและเพิ่มตลาดปลายทางให้กับเชื้อเพลิงชีวภาพ,การขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics)ที่ใช้วัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Biochemicals), นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 2 และการขยายธุรกิจ fatty alcohol ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

4.การสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ (Sustainability) : การพัฒนา RSPO (RSPO development) บริษัทฯ  มีการดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ในการสนับสนุนมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (Round Table for Sustainable Palm Oil : RSPO) โดยบริษัทฯ มีการวางแผนในการทำงานร่วมกันกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (RSPO)

สำหรับคดีความเรื่องวัตถุดิบคงคลังของ GGC ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 61 นั้น  GGC ได้ดำเนินการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส ดำเนินการตามกฎหมายโดยยึดหลักธรรมาภิบาล โดยความคืบหน้าและสถานการณ์ของคดีความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปัญหาวัตถุดิบดังกล่าว สรุปดังนี้

1.คดีอาญา GGC ได้มีการเร่งรัดติดตามให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำการสอบสวนและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามขั้นตอนกระบวนการ นอกจากนี้ บริษัทฯ ก็ยังได้ให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต. ในการให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ ก.ล.ต. สามารถพิจารณาความผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เนื่องจาก GGC เป็นบริษัทจดทะเบียนจนทำให้ ก.ล.ต. สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษ อดีตผู้บริหาร 2 ราย คู่ค้า 5 ราย และผู้บริหารของคู่ค้าอีก 4 ราย รวมทั้งสิ้น 11 ราย ในเดือนมี.ค.64 ที่ผ่านมา

2.คดีแพ่ง มีทั้งที่ GGC เป็นโจทก์ เป็นผู้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และกรณีที่ GGC ถูกบริษัทคู่ค้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย กรณีที่ GGC เป็นโจทก์ เป็นกรณีที่ GGC ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทคู่ค้า และ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากอดีตผู้บริหารที่ถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษ กรณีที่ GGC เป็นจำเลย ถูกคู่ค้าฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม คือคดีที่ GGC ถูกบริษัท Asia Capital หรือ ACAP ฟ้องร้องและคดีที่คู่ค้าที่ถูกดำเนินคดีอาญามาฟ้องร้อง

“จากความคืบหน้าและสถานการณ์ปัจจุบันของคดีความต่างๆ ที่ GGC ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น GGC ได้มีการดำเนินคดีทั้งในด้านอาญาร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนทำให้เรื่องเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับคู่ค้าและอดีตผู้บริหาร เพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหายให้กับบริษัทฯ และยังสามารถชนะคดีได้ รวมถึงการที่ GGC ยืนยันที่จะต่อสู้คดีแพ่งที่ถูกฟ้องร้องให้ถึงที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ GGC และผู้ถือหุ้นของเราต้องได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากเหตุการณ์ปัญหาวัตถุดิบดังกล่าว” นายไพโรจน์ กล่าว

Back to top button