ILM ดึง “วู้ดดี้” คอลแลปส์แบรนด์ “DREAMIA” ตีตลาดหมอนสุขภาพ

ILM ดึง “วู้ดดี้” คอลแลปส์แบรนด์ "DREAMIA" ตีตลาดหมอนสุขภาพ วางจำหน่าย 31 สาขาทั่วปท.-ออนไลน์ ตั้งเป้ายอดขายปี 65 โตกว่า 10% แตะ 8.2 พันลบ. เล็งขยายสาขา “SEOUL U MART” เพิ่ม


นางสาวกฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILM เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มความร่วมมือในรูปแบบ Collaboration กับ วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา ในการร่วมสร้างแบรนด์ “DREAMIA” หมอนไฮบริด เพื่อรองรับตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมองเห็นปัจจัยสนับสนุนจากการที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ การนอนหลับถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม และพบว่า 30-40 % ของประชากรไทย หรือราว 19 ล้านคน ต้องเผชิญปัญหานอนไม่หลับ โดยระบุสาเหตุจากที่รองนอน ฟูก และหมอน ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการนอนถึง 96.5% และบริษัทได้นำประสบการณ์จากการใช้งานจริงของวู้ดดี้มาพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า แก้ปัญหาภาวะออฟฟิศซินโดรม และปัญหาระบบภายในร่างกายไม่สมดุล

ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าที่นอนและเครื่องนอน ของอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ให้หลากหลาย ซึ่งในปีที่ผ่านมากลุ่มสินค้าดังกล่าว มีอัตราการเติบโตถึง 16% โดยมีสัดส่วนการขายอยู่ที่ 10% ของยอดขายรวม และคาดว่าการเปิดตัวหมอนไฮบริดแบรนด์ DREAMIA ในครั้งนี้ จะสามารถช่วยกระตุ้นยอดขายของบริษัทได้ราว 20% ซึ่งบริษัทจะใช้งบการตลาดที่ 20 ล้านบาททำการตลาดและการสื่อสารประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่หมอนไฮบริดแบรนด์ DREAMIA วางจำหน่ายที่ อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ 31 สาขาทั่วประเทศ รวมทั้งช่องทางออนไลน์

บริษัทคาดว่าแนวโน้มยอดขายในช่วงไตรมาส 1/2565 จะเห็นการเติบโตในระดับตัวเลข 2 หลักได้ จากที่ในช่วงปลายปี 2564 และในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ลูกค้าได้กลับมาซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเฟอร์นิเจอรืและของตกแต่งบ้านในสาขาของบริษัทเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ฟื้นกลับมาดีขึ้น และโครงการช้อปดีมีคืน ที่เป็นปัจจัยเข้ามาช่วยหนุนการเติบโตของยอดขาย

อีกทั้งการขายผ่านช่องทางออนไลน์ยังสามารถสร้างยอดขายได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายรวมของบริษัทในช่วงไตรมาส 1/2565 ยังสามารถเห็นการเติบโตได้ในระดับที่บริษัทพึงพอใจ และเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายทั้งปี 2565 เติบโตในระดับตัวเลข 2 หลัก หรืออยู่ที่ 8.2 พันล้านบาท

กลยุทธ์ของบริษัทในปี 2565 ในด้านการขายยังคงเน้นการสร้างการเติบโตร่วมกันระหว่างช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยที่ช่องทางออฟไลน์หรือช่องทางการขายผ่านสาขาของบริษัทยังคงมีการเตรียมความพร้อมของสินค้าต่างๆให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาเลือกซื้อ รวมถึงการบริการต่างๆที่เข้ามาช่วยเหลือลูกค้าในการตัดสินใจหรือการเลือกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่ตรงกับการออกแบบและความต้องการใช้สอยของลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจและได้รับความสะดวกสบายในการเข้ามาใช้บริการในสาขา

อีกทั้งในส่วนของสาขาบริษัทยังได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในบางสาขาให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ในการเข้ามาใช้บริการที่สาขาจากการที่นำพื้นที่ขายบางส่วนมาเป็นพื้นที่เช่าร้านอาหารและซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อทำให้สาขาของบริษัทมี Traffic การเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น และสร้างโอกาสในการขาย รวมถึงลูกค้าที่เข้ามาซื้อของจากสาขาของบริษัทสามารถทางอาหารหรือซื้อสินค้าอื่นๆกลับบ้านได้ในที่เดียว ซึ่งเป็นการทำให้พื้นที่สาขาของบริษัทสามารถสร้างความสะวดให้กับลูกค้าได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีการรีโนเวทสาขาของบริษัทให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยในปีนี้จะมีการรีโนเวทสาขาภูเก็ต และเกษตรนวมินทร์ งบลงทุน 185 ล้านบาท พร้อมกับการเตรียมเปิดสาขาใหม่ สาขาลาดกระบัง ในช่วงไตรมาส 4/65 โดยใช้เงินลงทุน 220 ล้านบาท ซึ่งเป็นสาขาในรูปแบบมิกซ์ยูส ที่มีส่วนพื้นที่ขายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ ของตกแต่งบ้าน และพื้นที่เช่า และในส่วนของการขยายสาขาในรูปแบบการให้สิทธิ์แฟรนไชส์กับพันธมิตรทางธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น บรูไน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ราว 5 สาขา ซึ่งอยู่ในระหว่างการหารือความร่วมมือและมองโอกาสในการทำตลาดร่วมกันในปีนี้

นอกจากนี้บริษัทยังมีการเริ่มทดลองตลาดในธุรกิจใหม่ที่เป็น Korean Supermarket ภายใต้ชื่อ SEOUL U MART รวม 2 สาขา ที่สาขาเกษตรนวมินทร์ และ The Walk ราชพฤกษ์ ซึ่งได้เปิดไปเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่เข้าซื้อของในร้านค่อนข้างมาก และอยู่ระหว่างการมองหาโอกาสในการขยายสาขาใหม่ๆ เพิ่มเติมทั้งในสาขาของอินเด็กซ์ฯ และสาขาในพื้นที่อื่นๆ

ส่วนของการที่บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ในการที่ให้สิทธิพื้นที่เช่าการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับ COM7 เข้ามาเป็นผู้บริหารการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซทำให้บริษัทมีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่จากพันธมิตรเข้ามาเสริม  และจากศักยภาพการขายและการทำสาขาของ COM7 ถือเป็นผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าไอทีและอิเลคทรอนิกส์ที่มีศักยภาพสูง จะสามารถช่วยดึงดูดลูกค้าเข้ามาในสาขาของบริษัทได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตบริษัทอาจจะมีความร่วมมืออื่นๆกับทาง COM7 เพิ่มเติมได้อีกเช่นกัน

สำหรับการขายผ่านช่องทางออนไลน์ยังคงมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพฤติกรรมของคนในปัจจุบันหลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มมีความคุ้นเคยและเชื่อมั่นกับการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะเป็นหนึ่งในช่องทางที่ลุกค้าสามารถสั่งซื้อได้สะดวก และมีบริการส่งถึงบ้าน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าสัดส่วนยอดขายออนไลน์ภายใน 2-3 ปี จะเพิ่มขึ้นไปที่ 20% ของยอดขายรวม จากปีก่อนที่มีสัดส่วน 10% จากยอดขายรวม หรืออยู่ที่ 1 พันล้านบาท

ด้านนายวิพล วรเสาหฤท ประธานเจ้าหน้าฝ่ายปฏิบัติการ ILM กล่าวว่า การพัฒนาสินค้านั้นในปีนี้จะหันมาเน้นการใช้กลยุทธ์ที่เป็นการร่วมมือกับพันธมิตรในการ Collaboration Marketing ที่ช่วยกันในด้านการพัฒนาสินค้า และเกิดความร่วมมือทางธุรกิจ แทนที่การใช้พรีเซ็นเตอร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าที่ได้จากประสบการณ์จริง และสามารถส่งมอบประสบการณ์ในการนำจุดที่ปรับปรุงประสิทธิภาพสินค้าให้ดีขึ้นผลิตออกมาและส่งมอบประสบการณ์ที่ดีไปให้กับลูกค้า เพื่อสร้างมูลค่าของสินค้าให้เพิ่มขึ้น

ขณะที่แนวโน้มของต้นทุนการผลิตเฟอร์นิเจอร์และต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น บริษัทได้มีการปรับราคาสินค้าบางประเภทขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของต้นทุนที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นราว 20-30% จากการที่มีการปรับขึ้นราคาวัตุดิบในการผลิต รวมถึงค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น 3-5 เท่า อีกทั้งในส่วนความล่าช้าของการขนส่งที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องมีการปรับแผนการบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด

โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนการผลิตนั้นบริษัทมองว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก และปัญหาด้านการผลิตของประเทศจีนในช่วงโควิด-19 ที่เกิดขึ้นที่ล่าช้า ทำให้บริษัทมองว่าอาจจะมีการศึกษาในการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบหรือการผลิตต้นทุนน้ำ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในเรื่องการผลิตสินค้าของบริษัท และทำให้บริษัทสามารถมีต้นทุนการผลิตในระดับที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทอยู่ระหว่าการศึกษาและมองหาธุรกิจดังกล่าว

X
Back to top button