PRINC ขยาย “รพ.-คลินิก-ศูนย์เฉพาะทาง” บุกเมืองรอง ผนึก BH-RATCH ยกระดับการแพทย์

PRINC เดินหน้าขยาย “โรงพยาบาล-คลินิกชุมชน-ศูนย์เฉพาะทาง” บุกเมืองรอง คาดเปิดโรงพยาบาลสาขาสกลนครต้นปี 66 ผนึก BH-RATCH ยกระดับการแพทย์ไทย-เข้าถึงผู้ป่วยต่างจังหวัด


นายธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ผ่านรายการ “ข่าวหุ้น” ออกอากาศทางช่อง MCOT HD30 ในวันที่ 30 มีนาคม 2565 มีประเด็นสำคัญดังนี้

ปัจจัยที่สนับสนุนให้รายได้ในช่วงปี 2564 เติบโตขึ้น

ในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีรายได้จากการทำ Hospitel, การบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19, การทำ Home Isolation รวมถึงรายได้จากการรักษาพยาบาลก็เติบโตขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ทิศทางและแผนนธุรกิจของ PRINC ปี 2565

ในปี 2564 บริษัทฯ มีโรงพยาบาลในเครือทั้งสิ้น 12 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด ซึ่งในปี 2565 บริษัทฯ มีแผนจะขยายโรงพยาบาลเป็น 14-15 แห่ง ส่วนในปี 2566 มีแผนจะขยายโรงพยาบาลเพิ่มเป็น 20 แห่งทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น คลินิกชุมชน ปัจจุบันมีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 17 สาขา และมีแผนจะขยายออกต่างจังหวัดในปีนี้ ส่วนศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัท นิฮอน เคเอ รวมทั้งล่าสุดได้เข้าลงทุนในบริษัท ผิวดีคลินิก เอสเธติคส์ จำกัด ซึ่งมีแผนที่จะขยายสาขาออกไปยังต่างจังหวัดในปีนี้ด้วย ส่วนธุรกิจที่บริษัทฯ ร่วมกับทางโรงพยาบาลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่มีการเปิดศูนย์เฉพาะทาง ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงต่อยอดการรักษาพยาบาลให้กับเครือโรงพยาบาล

แผนการขยายโรงพยาบาล 14-15 แห่งปี 2565 มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

ส่วนใหญ่จะเน้นขยายไปในพื้นที่เมืองรอง ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ พยาบาลกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือในเมืองขนาดใหญ่ ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจึงต้องการยกระดับสาธารณะสุขในประเทศไทยให้ดีขึ้นให้เข้าถึงประชาชนในเมืองรอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดสกลนคร คาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้ในช่วงต้นปี 2566

การร่วมมือระหว่าง PRINC และ BH มีการต่อยอดศูนย์การแพทย์ต่างๆ อย่างไรบ้าง

เนื่องจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องศูนย์เฉพาะทาง จึงเกิดความร่วมมือกันเปิดศูนย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลปริ๊นสุวรรณภูมิ ล่าสุดเปิดศูนย์มะเร็งที่พิษณุโลก และอุบลราชธานี ซึ่งในอนาคตก็มีแผนว่าขยายศูนย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี

แผนการร่วมลงทุนกับ RATCH ที่ผ่านมา และทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร

นอกจาก RATCH จะลงทุนในธุรกิจหลักของ PRINC แล้วในส่วนของโปรเจกอื่นๆ ก็ยังร่วมลงทุนด้วย เช่น โรงพยาบาลใหม่ที่สกลนคร RATCH ได้ร่วมลงทุนในสัดส่วน 25% รวมถึงโครงการอื่นๆ ในอนาคตก็ได้มีการพูดคุยร่วมกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทาง RATCH ยังแนะนำพันธมิตรใหม่ๆ ให้เข้ามาร่วมมือเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานโรงพยาบาลในเครืออีกด้วย

มองแนวโน้มฐานรายได้ที่เกี่ยวข้องโควิด-19 ในปี 2565 ไว้อย่างไร

มองว่าจะแตกต่างจากปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งผู้ป่วยมีความต้องการที่จะเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล เนื่องจากเดลต้าเป็นสายพันธุ์ที่อาการมีความรุนแรง และเชื้อสามารถลงปอดได้โดยง่าย ดังนั้นโรงพยาบาลจึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มห้องไอซียู หรือทำห้องวอร์ดเพื่อรองรับผู้ป่วยที่จะเข้ามา ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ แต่ในปี 2565 สถานการณ์เปลี่ยนกลายเป็นสายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาด ซึ่งความรุนแรงของโรคค่อนข้างเบา ประกอบกับรัฐบาลในหลายๆ ประเทศทยอยประกาศในโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

ดังนั้นจึงมองว่าจากการที่ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จะทำให้รายได้ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโควิด-19 นั้นเริ่มลดน้อยลง ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ก็ได้มีการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดคลินิก เพื่อรักษา Long Covid หรือทำเรื่องของการฟื้นฟูศักยภาพ เนื่องจากผู้ป่วยหลายรายเมื่อหายจากอาการโควิด-19 แล้วจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูศักยภาพ เพราะโรค Long Covid เป็นกันค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

การเข้าสู่ Digital Hospital ตอนนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดพบว่าแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีผ่านโครงข่าย 5G การใช้แอปพลิเคชัน หรือการใช้บริการ Telemedicine เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ฉะนั้นการให้บริการต่างๆ จะเปลี่ยนรูปแบบไปเลย ปัจจุบันบริษัทฯ มีแอปพลิเคชันชื่อว่า Princhealth App ดูแลคนไข้ตลอดช่วงโควิด-19 โดยที่ผ่านมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 20,000-30,000 ราย ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนและการทำ PCR Test ประมาณ 400,000-500,000 ราย

Back to top button