ขสมก.แจงยิบแผนเช่าเหมา “รถเอกชน” มั่นใจคุ้มค่า

ขสมก.ยืนยันเดินแผนเช่าเหมารถโดยสาร EV เอกชนมาวิ่งในเส้นทางต่างๆ ระหว่างรอการพิจารณาแผนฟื้นฟู เตรียมประกาศทีโออาร์เดือนพฤษภาคมนี้ มั่นใจช่วยลดรายจ่ายและภาระหนี้ เพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชน


นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ชี้แจงกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ยื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้เร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่เห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ว่า ขณะนี้ ขสมก.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ระยะสั้น เนื่องจากปัจจุบัน ขสมก. อยู่ระหว่างรอเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ​ พิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ ปี 2562 (ฉบับปรับปรุง)​ โดยรูปแบบการทำแผนระยะสั้นมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ระหว่างที่รอการพิจารณา​แผนฟื้นฟูฯ ฉบับปรับปรุงแล้วเสร็จ ซึ่งจะใช้วิธีการจัดหารถให้บริการด้วยการจ้างเอกชนมาวิ่งรถตามระยะทาง

โดยเอกชนจะต้องจัดหารถปรับอากาศ และพนักงาน มาให้บริการ โดยเขตการเดินรถทั้ง 8 เขต ของ ขสมก.จะเป็นผู้ดำเนินการบริหารตารางการเดินรถ และกำหนดความถี่ในการให้บริการเดินรถโดยใช้งบประมาณในการดำเนินการจ้างเอกชนเดินรถ นั้น ขสมก.จะใช้งบประมาณ จากรายได้ในการบริหารการเดินรถ เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถโดยสารสาธารณะ และค่าใช้เกี่ยวกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

ส่วนกรณีที่สหภาพฯ ขสมก.ตั้งข้อสังเกตว่า การเหมาจ้างให้เอกชนมาเดินรถ คันละ 6,000 กว่าบาทต่อวัน สูงเกินกว่าความเป็นจริงหรือไม่ นั้น นายกิตติกานต์ ระบุว่า หากคิดต้นทุนตามข้อเท็จจริงรถ ขสมก.ครีมแดง มีค่าใช้จ่ายต้นทุนต่อคันต่อวัน เกิน 6,000 บาท แบ่งเป็น ค่าเหมาซ่อม 1,400 บาทต่อคัน ค่าเชื้อเพลิงหากคิดค่าดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 28-30 บาท จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,600 บาทต่อเที่ยว ค่าจ้างคนขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก. 3,000 บาทต่อคันต่อวัน แต่หากจัดหารถใหม่ด้วยการเหมาจ้างเอกชน จะมีต้นทุนดำเนินการใกล้เคียงกับการขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ หรือ พีเอสโอ ซึ่งในการบริหารจัดการ จะมีมีต้นทุนถูกกว่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน เพราะเป็นรถ EV ค่าเชื้อเพลิงอยู่ที่ 3.50 บาท ซึ่งตามสัญญาเป็นภาระเอกชนรับผิดชอบ

เบื้องต้นคณะกรรมการ (บอร์ด)​ ขสมก.ได้พิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ ระยะสั้น ในการจ้างเอกชนมาวิ่งรถตามระยะทาง นำร่องจำนวน 224 คัน จากทั้งหมด 400 คัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์​ที่ผ่านมา โดยเอกชนได้รายได้จากการจ้างของ ขสมก. คิดเป็นกิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำเอกสารประกวดราคา หรือ ทีโออาร์​ คาดว่าจะประกาศการประกวดราคาได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้น จะดำเนินการจัดหารถได้ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2565 หากมีผู้คัดค้านอาจทำให้ระยะเวลาการประกวดราคาขยับออกไปได้

ทั้งนี้ หลังประกวดราคาแล้วเสร็จ ขสมก.ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีข้อกำหนดหลักเกณฑ์ว่าภายในระยะเวลา 1 ปี ต้องบรรจุรถใหม่ไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งขณะนี้มีเส้นทางการเดินรถจำนวน 107 เส้นทาง ในจำนวนนี้บรรจุรถโดยสารให้บริการแล้ว 17 เส้นทาง และเหลือรถที่ต้องบรรจุอีก 90 เส้นทาง

ส่วนกรณีที่ ขสมก. จะเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน โดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยวการเดินทาง นั้น นายกิตติกานต์  ชี้แจงว่า ราคาดังกล่าวอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ที่ยังไม่ได้รับการเห็นชอบจาก ครม. โดยยืนยันว่า จะยังใช้ราคาปกติรถครีมแดง 8-10 บาท ส่วนรถปรับอากาศ 15-25 บาทตามระยะทาง ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขสมก. มีผู้โดยสาร 5-6 แสนคนในวันธรรมดา และ 3-4 แสนคนในวันหยุด

Back to top button