ผู้ถือหุ้น FPI เคาะจ่ายปันผล 0.07 บ. XD 5 พ.ค.นี้ จับตากำไรปีนี้ออลไทม์ไฮ!

ผู้ถือหุ้น FPI เคาะจ่ายปันผลครึ่งหลังปี 64 หุ้นละ 0.07 บ. ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 5 พ.ค.65 กำหนดจ่ายเงิน 20 พ.ค.65 ย้ำเป้ายอดขายปีนี้ 2.4 พันลบ. หลังแนวโน้มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นขาขึ้น


นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงาน ประจำปี 2564 ให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 เพิ่มอีกเป็นจำนวนหุ้นละ 0.07 บาท จากผลการประกอบการของบริษัทฯ งวด 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งถือหุ้นรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,473,029,934 หุ้น รวมเป็นเงินปันผลจ่ายในครั้งนี้ 103,112,095.38 บาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นแล้วจำนวน 0.05 บาท สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯ งวด 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 4/2564 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 จะรวมเป็นเงินปันผลจ่ายในปี 2564 ทั้งสิ้นจำนวนหุ้นละ 0.12 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิน 176,763,592.08 บาท กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 5 พ.ค.2565 รวมทั้งให้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 (Record Date) และกำหนดจ่ายเงินปันผลภายใน วันที่ 20 พฤษภาคม 2565

ในปี 2564 บริษัทฯ สามารถสร้างผลงานได้อย่างดีเยี่ยม โดยมีกำไรสุทธิ  329 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 899%  และเป็นระดับกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้สามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นการขอบคุณผู้ถือหุ้นที่ให้ความไว้วางใจรวมถึงมีความเชื่อมั่นในการบริหารงานมาโดยตลอด ขณะที่ในปีนี้ บริษัทฯหวังว่าจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรในระดับที่น่าพอใจอีกครั้ง” นายสมพล กล่าว

สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2565 ประเมินว่ายังอยู่ในทิศทางที่ดี และน่าจะยังเป็นขาขึ้นของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายปีนี้อยู่ที่ 2,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 2,100 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงไตรมาส1/2565 ภาพรวมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และมีคำสั่งซื้อ (Order) เข้ามาจำนวนมากจนบริษัทฯ ผลิตไม่ทันและต้องจ้างผลิตเพิ่มเติม รวมทั้งต้องมีการสั่งซื้อเครื่องจักรเข้าเพิ่มอีก 5 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องที่ใช้ในประเทศอินเดีย 2 เครื่อง และใช้ในประเทศไทย 3 เครื่อง

โดยเฉพาะบริษัท FPI AUTO PART INDIA PRIVATE LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศอินเดีย ดำเนินธุรกิจออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์,บริการรับออกแบบผลิตภัณฑ์และผลิตแม่พิมพ์พลาสติก, รับจ้างฉีด, ชุบโครเมียม, พ่นสีและประกอบชิ้นงานทุกประเภท ปัจจุบันมีการฟื้นตัวอย่างคึกคัก และมีออเดอร์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อน ส่งผลให้มีมูลค่างานในมืออยู่แล้วกว่า 810 ล้านรูปี

รวมทั้งปัจจุบันมียอดคำสั่งซื้อในมือ (Backlog) ทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ มูลค่ารวมกว่า 800 ล้านบาท โดยทยอยรับรู้ในปี 2565 ประมาณ 450 -500 ล้านบาท และที่เหลือจะรับรู้ในปีถัดไป ขณะเดียวกันมีแผนเตรียมยื่นประมูลงานใหม่เพิ่มเติมอีก 300-400 ล้านบาทซึ่งคาดว่าจะประมูลได้ประมาณ 50%

ขณะเดียวกันธุรกิจงานชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ภายใต้ตราสินค้าของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ (Original Equipment Manufacturer : OEM) คาดว่าจะมีออเดอร์เพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน ส่วนธุรกิจบริการให้เช่าแม่พิมพ์มีแนวโน้มเติบโตจากความต้องการที่มีเพิ่มขึ้นทั้งจากประเทศปากีสถาน เปรู บราซิล เป็นต้น ดังนั้น น่าจะสนับสนุนให้ผลงานในปีนี้สามารถทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้อีกครั้ง

Back to top button