ผู้ถือหุ้น DMT ไฟเขียวปันผล 0.32 บ. – ส่งซิกรายได้ปีนี้โตเด่น

ผู้ถือหุ้น DMT ไฟเขียวปันผล 0.32 บ. คิดเป็น 93.5% ของกำไรสุทธิปี 64 กำหนดจ่ายวันที่ 26 พ.ค.65 คาดรายได้และปริมาณจราจรโตตามเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว พร้อมเดินหน้าประมูลงานโครงการภาครัฐ 4-5 โครงการ


นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ในวันที่ 26 เมษายน 2565 ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.32 บาท หรือเป็นยอดเงินปันผลรวมจำนวนทั้งสิ้น 377,994,496 บาท คิดเป็น 93.5% ของกำไรสุทธิประจำปี 2564  ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.07 บาท ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จดทะเบียน และรับชำระแล้ว จำนวน 1,181,232,800 หุ้น หรือเป็นยอดเงินปันผลรวมจำนวน 82,686,296 บาท

ดังนั้น บริษัทจะจ่ายเงินปันผลส่วนที่เหลืออีกหุ้นละ 0.25 บาท สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2564 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จดทะเบียน และรับชำระแล้วจำนวน 1,181,232,800  หุ้นหรือเป็นยอดเงินปันผลรวมจำนวน 295,308,200 บาท โดยบริษัท กำหนดวันจ่ายเงินปันผลในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565  นอกจากนี้ ยังมีมติอนุมัติการจัดสรรกำไรเป็นทุนสำรองตามกฎหมายในอัตราร้อยละ 5 ของกำไร สำหรับปี 2564 เป็นจำนวนเงิน 20,215,055.45 บาท

ขณะเดียวกันยังมีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการ จำนวน 4 ท่าน แทนกรรมการที่ต้องออกตามวาระดังนี้ 1.นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม 2.นายอานนท์ เหลืองบริบรูณ์ 3.ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย และ 4.พลเอกสืบสันต์ ทรรทรานนท์

ด้าน ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจและการเงิน DMT กล่าวว่า แนวโน้มรายได้และปริมาณจราจรในปี 2565 มีปัจจัยที่ส่งเสริมให้ปริมาณจราจรฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตามระดับของมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมของภาครัฐต่อเนื่อง การเร่งกระจายการฉีดวัคซีน การเปิดภาคเรียนแบบ Onsite และแผนการเปิดประเทศที่ภาครัฐเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งจะสนับสนุนการเดินทางและปริมาณจราจรบนทางยกระดับให้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากลักษณะธุรกิจของบริษัทเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานประเภททางด่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง

ทั้งนี้จึงคาดว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้จะฟื้นตัวเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะทุกภาคส่วนยังจำเป็นต้องมีการเดินทาง  และเมื่อพิจารณารูปแบบการเดินทางเปรียบเทียบ รถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะ และรถไฟฟ้า จะเห็นว่าการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลสามารถบริหารจัดการเรื่อง Social Distancing ได้ดีกว่า  รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบทางยกระดับดอนเมืองและการขยายตัวของชุมชน ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ บริษัทมีความพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการที่ภาครัฐเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ทั้งในธุรกิจทางด่วนและทางพิเศษ (Toll Road Business) อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5), โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82), โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง และธุรกิจอื่นนอกเหนือจากธุรกิจทางด่วนและทางพิเศษ (Non-Toll Road Business) อาทิ โครงการพัฒนาจุดพักรถริมทางหลวง (Rest Area) และ โครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะระบบรอง (Feeder) เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

Back to top button