BFIT (ใหม่) พื้นฐานเปลี่ยน-มูลค่าเพิ่ม โบรกเล็งอัพเป้า “ราคา-กำไร”

BFIT (ใหม่) พื้นฐานเปลี่ยน–มูลค่าเพิ่ม โบรกรอปรับเป้า “ราคา-กำไร” ใหม่ เพราะดูจากแนวโน้มธุรกิจของ SCAP จะมีการเติบโตแบบดับเบิ้ลทุกปี


หากพูดถึงบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD คงไม่มีใครไม่รู้จัก โดยเฉพาะประชาชนที่มักแวะเวียนเข้าไปใช้บริการกับธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ภายใต้เครื่องหมาย “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” แต่แท้จริงแล้ว SAWAD ยังมีบริษัทย่อยที่เป็นหน้าเป็นตาได้ไม่น้อย นั้นคือ บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT ซึ่ง SAWAD ถือหุ้นใหญ่ใน BFIT สัดส่วน 81.64% เพราะ BFIT สามารถสร้างรายได้ให้กับ SAWAD ได้เป็นกอบเป็นกำ ผ่านธุรกิจเงินทุน

แต่เมื่อเศรษฐกิจของไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลทำให้การทำธุรกิจต่างๆเกิดการชะลอตัว จากเดิมที่ BFIT จะมีรายได้จากดอกเบี้ยที่ปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันก็เริ่มลดน้อยถอยลง จนเรียกได้ว่าอาจจะถึงจุดอิ่มตัวของธุรกิจเงินทุน ที่มีกฎเหล็กมากมายเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทน เห็นได้จากงบปี 2564 กำไรสุทธิเหลือแค่ 923 ล้านบาท จากปี 2563 เคยทำได้ 1,567 ล้านบาท เช่นเดียวกับรายได้ที่หายไปกว่าครึ่งอยู่ที่ 1,466 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ที่เคยทำได้ 3,562 ล้านบาท

นำไปสู่การตัดสินใจของ BFIT กับการคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนที่ถือครองอยู่ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ กิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์, กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา, กิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและการบริโภค และกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ พร้อมกับการหาธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้กับ BFIT เหมือนที่เคยเป็นมากับการก้าวเดินในแวดวงธุรกิจสินเชื่อนับจากนี้ ด้วยการดึงบริษัท ศรีสวัสดิ์แคปปิตอล จำกัด หรือ SCAP ซึ่งทำธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ หรือ Hire Purchase เข้ามา โดย BFIT จะซื้อหุ้น SCAP จาก SAWAD สัดส่วน 65% จากนายวิชิต พยุหนาวีชัย สัดส่วน 10% และผู้ถือหุ้นรายอื่นอีก 9 ราย สัดส่วน 25% เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

โดยรูปแบบการควบรวมกิจการระหว่าง BFIT กับ SCAP นั้นทาง BFIT จะออกหุ้นเพิ่มทุน 750 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 5 บาท ในราคาหุ้นละ24 บาท โดย 487.50 ล้านหุ้นจะออกให้กับ SAWAD และอีก 262.50 ล้านหุ้น จะออกให้ผุ้ถือหุ้นของ SCAP เพื่อแลกหุ้นทั้งหมดของ SCAP โดยมูลค่าทั้งหมดของดีลนี้จะอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท ภายหลังการควบรวม BFIT จะถือหุ้นใน SCAP สัดส่วน 100% และ SAWAD จะถือหุ้นใน BFIT ลดลงเหลือ 72% จากเดิม 82% เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นของ SCAP จะเข้ามาถือหุ้นใน BFIT แทน

การแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ของ BFIT เพื่อเข้ามาโลดแล่นในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ และการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับผู้ที่มีฐานรายได้ที่มั่นคง ยังคงมีคำถามว่า ภาพการเปลี่ยนธุรกิจของ BFIT จะส่งผลต่อมูลค่าราคาหุ้นของ BFIT มากน้อยแค่ไหน จากเดิมที่อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ หรือ P/E Ratio อยู่ที่ 17.2 เท่า ขณะที่อัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี หรือ P/BV Ratio อยู่ที่ 1.61 เท่า จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลังจากนี้มากน้อยเพียงใด

หากเทียบกับคู่แข่งในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อที่คล้ายกัน จะเห็นได้ว่า บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ค่า P/E Ratio อยู่ที่ 25.22 เท่า ส่วนค่า P/BV Ratio อยู่ที่ 5.52 เท่า, บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ค่า P/E Ratio อยู่ที่ 13.40 เท่า ส่วนค่า  P/BV Ratio อยู่ที่ 2.39 เท่า, บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG ค่า P/E Ratio อยู่ที่ 41.35 เท่า ส่วนค่า P/BV Ratio อยู่ที่ 3.04 เท่า, และบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ค่า P/E Ratio อยู่ที่ 28.37 เท่า ส่วนค่า P/BV Ratio อยู่ที่ 4.01 เท่าจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ หรือ P/E Ratio และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี หรือ P/BV Ratio ของกลุ่มธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อส่วนบุคคล จากเห็นทิศทางการเติบโตที่มีความโดดเด่นกว่าธุรกิจเงินทุน ซึ่งเป็นกิจการเดิมของ BFIT

ด้าน นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กำลังอยู่ในระหว่างการทำบทวิเคราะห์ของ BFIT หลังจากมีแผนควบรวมกับ SCAP อย่างไรก็ดี ราคา ณ ปัจจุบัน ของ BFIT นั้น จากข้อมูลในเบื้องต้นยังไม่ได้ตอบรับเชิงบวกจากการควบรวมกับ SCAP  นอกจากนี้ น่าจะมีการปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นช่วงถัดไป รวมถึงปรับคาดการณ์กำไรของ BFIT ใหม่ เพราะดูจากแนวโน้มธุรกิจของ SCAP จะมีการเติบโตแบบดับเบิ้ลทุกปีนับจากนี้ไป

ขณะที่ประเมินทิศทางราคาหุ้น BFIT ใหม่หลังปรับโครงสร้าง ถ้าหากกำไรปี 2565 เงื่อนไขเติบโตเท่าเดิมราวปี 2564 ที่มีกำไร 913.18 ล้านบาท มาคำนวณด้วยหลังปรับโครงสร้างจำนวนหุ้นชำระแล้วราว 1.301 ล้านหุ้น ซึ่งทำให้กำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 0.70 เท่าดังนั้นหากหาราคาหุ้นก็ต้องไปคูณด้วยค่า P/E เพื่อจะหาความน่าจำเป็นของราคาหุ้นอยู่ที่ระดับเท่าไร โดยจากเดิมที่ BFIT อยู่ในกลุ่มการเงินก็ต้องเทียบกับค่า P/E ในกลุ่มดังกล่าว แต่เมื่อควบรวมกับ SCAP แล้วหันมาลุยสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อส่วนบุคคลก็ต้องมาเทียบกับค่า P/E พวกนอนแบงก์แทนอย่าง KTC, HENG, AEONTS และ TIDLOR ก็จะทำให้ค่าเฉลี่ยของค่า P/E อยู่ประมาณ 30-40 เท่า

โดยเมื่อลองมาคำนวณความน่าจำเป็นของราคาหุ้นอ้างอิงค่า P/E อยู่ที่ 30 เท่า มาคูณด้วยกำไรต่อหุ้น 0.70 บาท ราคาหุ้นจะอยู่ที่ 21 บาท ต่อมาหากอ้างอิงคิดจากค่า P/E อยู่ที่ 40 เท่า ราคาหุ้นจะอยู่ที่ 28 บาท และหากอ้างอิงคิดจากค่า P/E อยู่ที่ 50 เท่า ราคาหุ้นจะอยู่ที่ 35 บาททว่าในปี 2566 หากกำไรเติบโตเท่าตัวขึ้นมา สมมติฐานว่ากำไรต่อหุ้นจะอยู่ที่ 1.40 เท่า หากอ้างอิงคิดจากค่า P/E อยู่ที่ 30 เท่า ราคาหุ้นจะอยู่ที่ 42 บาท ต่อมาหากอ้างอิงคิดจากค่า P/E อยู่ที่ 40 เท่า ราคาหุ้นจะอยู่ที่ 56 บาท และหากอ้างอิงคิดจากค่า P/E อยู่ที่ 50 เท่า ราคาหุ้นจะอยู่ที่ 70 บาท

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นเชื่อว่าในช่วงระยะสั้นอาจยังไม่เห็นราคาหุ้นขยับขึ้นมากหนัก แต่ระยะยาวอาจเห็นความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นชัดเจนมากขึ้นถ้าผลประกอบการของ BFIT ใหม่ออกมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งก็คงเห็นราคาขึ้นปรับตัวขึ้นคึกคัก

ล่าสุดวานนี้ 5 พ.ค. 2565 ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 29.00 บาท บวกไป 0.50 บาท หรือขึ้นไป1.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 30.37 ล้านบาท

 

Back to top button