หอการค้าฯ แนะรัฐตรึง “ราคาน้ำมัน”- ต่อ “คนละครึ่ง” หลังดัชนีบริโภคต่ำสุดรอบ 8 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดตัวดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน พบว่า ลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (ภาคเอกชน) เดือนเมษายน 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นยังลดลง โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 หรือจากระดับ 42.0 เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 40.7 ขณะที่ความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ลดลงอยู่ระดับ 0.1 โดยค่าดัชนีอยู่ที่ 35.4

สำหรับความเชื่อมั่นที่ลดลงครั้งนี้ น่าจะมาจากเรื่องของค่าครองชีพสูงเป็นหลัก และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงราคาน้ำมันที่ส่งผลให้ราคาสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้น แม้เดือนเมษายนน้ำมันดีเซลจะยังไม่มีการปรับตัวสูงขึ้น แต่พบว่าความเชื่อมั่นก็ยังทดถอยลง ส่งผลให้บั่นทอนความเชื่อมั่นในปัจจุบันที่ค่อนข้างลงอีกเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนกังวลมากที่สุดคือ ค่าของชีพที่สูงขึ้น แต่รายได้ยังคงเท่าเดิม จึงมองว่าเป็นผลกระทบหนักที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้ง ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นและอาจปรับตัวถึง 35 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวถึง 40-50 บาทต่อลิตรเป็นปัจจัยหลัก ทำให้สัญญาณเงินเฟ้อ ตลอดจนราคาสินค้า เริ่มทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง กลายเป็นปัญหาบั่นทอนความสุขของประชาชนในเดือนพฤษภาคมต่อเนื่อง

โดยสิ่งที่รัฐบาลจะสามารถช่วยภาคเอกชนได้ คือการดูแลค่าพลังงาน หรือค่าครองชีพประชาชน ด้วยการตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลก มีลักษณะของการ sideways และอาจจะ sideways down เพราะกังวลเรื่องการล็อกดาวน์ของประเทศจีนและการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐ (เฟด) จะกดเศรษฐกิจให้ชะลอลง หมายความว่า ราคาน้ำมันอาจจะไม่ใช่แรงกดดันที่จะทำให้เศรษฐกิจจะต้องมีการขึ้นราคาน้ำมันในไทยมาก แต่ก็ต้องมีการปรับขึ้น เพราะราคาน้ำมันห่างจากสมดุลไปมากพอสมควร หากรัฐบาลสามารถประคองให้น้ำมันไม่ขึ้นเร็วจนเกินไปจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และ สนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ในช่วงเดือนมิถุนายน

Back to top button