สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 พ.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 พ.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (10 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ดีดตัวขึ้นเกือบ 1% ขานรับแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,160.74 จุด ลดลง 84.96 จุด หรือ -0.26%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,001.05 จุด เพิ่มขึ้น 9.81 จุด หรือ +0.25% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,737.67 จุด เพิ่มขึ้น 114.42 จุด หรือ +0.98%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดดีดตัวขึ้นในวันอังคาร (10 พ.ค.) จากระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เนื่องจากนักลงทุนกลับเข้าช้อนซื้อหุ้นราคาถูกซึ่งร่วงลงจากแรงเทขายก่อนหน้านี้ท่ามกลางความวิตกว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 420.29 จุด เพิ่มขึ้น 2.83 จุด หรือ +0.68%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,116.91 จุด เพิ่มขึ้น 30.89 จุด หรือ +0.51%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,534.74 จุด เพิ่มขึ้น 154.07 จุด หรือ +1.15% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,243.22 จุด เพิ่มขึ้น 26.64 จุด หรือ +0.37%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันอังคาร (10 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มเฮลท์แคร์ซึ่งฟื้นตัวขึ้น หลังจากตลาดร่วงลงอย่างหนักก่อนหน้านี้จากความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการล็อกดาวน์ในจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,243.22 จุด เพิ่มขึ้น 26.64 จุด หรือ +0.37%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 100 ดอลลาร์ในวันอังคาร (10 พ.ค.) โดยตลาดยังคงถูกกดดันจากความกังวลว่าการที่จีนล็อกดาวน์เมืองสำคัญเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 3.33 ดอลลาร์ หรือ 3.2% ปิดที่ 99.76 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 3.48 ดอลลาร์ หรือ 3.28% ปิดที่ 102.46 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนในวันอังคาร (10 พ.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 17.6 ดอลลาร์ หรือ 0.95% ปิดที่ 1,841 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2565

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 39.6 เซนต์ หรือ 1.81% ปิดที่ 21.424 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 8.7 ดอลลาร์ หรือ 0.93% ปิดที่ 947.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 17.80 ดอลลาร์ หรือ 0.86% ปิดที่ 2043.70  ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (10 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.26% แตะที่ 103.9200

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.39 เยน จากระดับ 130.31 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9953 ฟรังก์ จากระดับ 0.9930 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับแคนาดา ที่ระดับ 1.3022 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2989 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0534 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0567 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2318 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2344 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6941 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6959 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button