KTB อู้ฟู่สลากดิจิทัล! 10 บ. ต่อ 1 ทรานแซคชั่น 5.2 ล้านใบเกลี้ยง จ่อเพิ่มโควตา 16 ก.ค.นี้

KTB รับเต็ม! ขายสลากดิจิทัลผ่านแอปฯ"เป๋าตัง" ฟันค่าธรรมเนียมโอนเงิน 10 บาทต่อ 1 ทรานแซคชัน พ่วง รับอีก 1% หากลูกค้าขึ้นเงินรางวัล ขณะที่ 5.17 ล้านฉบับหมดเกลี้ยง หลังมีผู้ซื้อ 1.3 ล้านราย ประเดิมรับค่าฟี 20 กว่าล้านบาท ส่วนงวด 16 ก.ค.นี้ ได้โควต้าเพิ่มอีก ล่าสุดราชกิจจาฯ ประกาศให้สลากดิจิตัล ขายผ่าน “เป๋าตัง” เท่านั้น โบรกฯมีมุมองเชิงบวกต่างเชียร์ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายสูงสุด 18 บ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(6มิ.ย.2565)นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรหุ้นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โดยหุ้นปิดตลาดที่ระดับ 15.70 บาท บวก 0.70 บาท หรือเพิ่มขึ้น 4.67% มูลค่าการซื้อขาย 2.26 พันล้านบาท หลังจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลประสบความสำเร็จขายสลากดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า โครงการสลากดิจิทัลที่ทำร่วมกับ KTB นั้น เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยธนาคารกรุงไทยจะได้ค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อครั้ง หรือต่อ Transactions จากการโอนเงินชำระค่าสลากกินแบ่งจากผู้ซื้อไปยังสำนักงานสลากฯ โดยมีค่าเฉลี่ยต่อการทำรายการในแต่ละครั้งอยู่ที่ 4.1 ฉบับ

นอกจากนี้ธนาคารกรุงไทยยังได้รับค่าธรรมเนียมจากการขึ้นเงินรางวัลกรณีผู้ถูกรางวัลสลากในแต่ละงวดอีกในอัตรา 1% ของมูลค่าเงินรางวัลที่ถูกแต่ละครั้งด้วย โดยหลังจากการปิดการขายสลากดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน ถึง 6  มิถุนายน 2565 พบว่ามียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 5,173,500 ฉบับ ในราคาฉบับละ 80 บาท ได้จำหน่ายหมดแล้ว จากการเข้าร่วมโครงการของผู้ค้าสลากทั้งสิ้น 10,513 ราย

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเพิ่มโควตาสลากดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นอำนาจของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลจะพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องเพิ่มหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่าสลากดิจิทัลเป็นการแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาได้ดี

ขณะที่นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา กล่าวถึงการจำหน่ายสลากผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา พบว่าประชาชนให้การตอบรับอย่างดี ระบบมีความราบรื่น  รวมทั้งประชาชนสามารถซื้อสลากตัวเลขที่ต้องการในราคา 80 บาทได้จริง โดยข้อมูลล่าสุดสลากทั้งหมด 5,173,500 ฉบับ ถูกจำหน่ายหมดแล้ว ผ่านการซื้อของประชาชนจำนวน 1,247,406 คน

ส่วนแนวโน้มในการเพิ่มปริมาณสลากจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มนั้น ขอเวลาในการประเมินผลการจำหน่ายและผลตอบรับประมาณ 2 เดือน เพื่อดูว่าในระยะยาวเป็นอย่างไร เพราะการตอบรับในช่วงแรกอาจได้รับความสนใจ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ และประชาชนสามารถเลือกซื้อเลขที่ต้องการในราคา 80 บาทได้

นายอนุชา กล่าวว่า มาตรการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาที่สำนักงานสลากฯ ดำเนินการอยู่นั้น ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มความเข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการจุดจำหน่ายสลาก 80 ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีครบทุกจังหวัดทั่วประเทศกว่า 500 จุด และจะเรียกรายสำรองขึ้นมา เพื่อให้มีจุดจำหน่ายโครงการสลาก 80 ให้ครบ 1,000 จุด ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และโครงการลงทะเบียนผู้ซื้อจองล่วงหน้า กำลังเร่งดำเนินการคัดเลือกต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า แม้ว่าสลากดิจิทัลจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่สำนักงานสลากฯ จะยังไม่เพิ่มจำนวนสลากดิจิทัลในงวดวันที่ 16 มิ.ย. 2565 โดยในงวดวันที่ 1 ก.ค. 2565 ที่จะเริ่มขายตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 ยังคงจำนวนขายไว้ที่ 5 ล้านฉบับเหมือนเดิม ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ ในวันที่ 23 มิ.ย. จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะต้องมีการเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัลเป็นจำนวนเท่าใด หากมีการเพิ่มก็จะเริ่มในงวดวันที่ 16 ก.ค. ซึ่งเริ่มขายวันที่ 2 ก.ค.เป็นต้นไป

โดยล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สรุปใจความสำคัญได้ว่า การขาย “สลากดิจิทัล” ให้ดำเนินการขายผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” ที่เป็นของรัฐบาลเท่านั้น

ขณะที่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ต่างมีมุมมองเชิงบวกกับ KTB หลังจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลประสบความสำเร็จขายสลากดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

โดยบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ระบุว่า กระแสสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนดขายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังราคาเดียว 80 บาทต่อใบ สร้างปรากฏการณ์ขายทั้งหมด 5 ล้านใบ (5% ของจำนวนที่พิมพ์ 100 ล้านใบ) ตามเป้าหมายภายใน 4 วัน ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินเป็น sentiment เชิงบวกต่อหุ้น KTB ที่เป็นเจ้าของแอปฯ เป๋าตัง จากการเป็น Service provider ในการพัฒนาแอปฯ

ขณะที่ราคาเป้าหมายของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แต่ละแห่งที่วิเคราะห์หุ้นกรุงไทย พบว่า บล.เมย์แบงก์ฯ ให้ราคาเป้าหมาย 18.00 บาท, บล.เครดิตสวิส ให้ราคาเป้าหมาย 17.50 บาท, บริษัทกหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน FSSIA ให้ราคาเป้าหมาย 16.40 บาท, บล.บัวหลวง ให้ราคาเป้าหมาย 16.10 บาท, บล.ไทยพาณิชย์ ให้ราคาเป้าหมาย 16.00 บาท และ บล.ทรีนีตี้ ให้ราคาเป้าหมาย 16.00 บาท

ด้านทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” เปิดเผยว่า จากกรณีที่ได้ปิดการขายสลากดิจิทัลผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” ตั้งแต่วันที่ 2– 6  มิถุนายน โดยมียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 5,173,500  ฉบับ ในราคาฉบับละ 80 บาท ซึ่งได้จำหน่ายหมดแล้วผ่านการซื้อของประชาชนจำนวน 1,247,406 คน โดยธนาคารกรุงไทยจะได้ค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อครั้ง หรือต่อ Transactions จากการโอนเงินชำระค่าสลากกินแบ่งจากผู้ซื้อไปยังสำนักงานสลากฯ

ทั้งนี้เมื่อคิดจากค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อครั้ง จากยอดผู้ซื้อฉลากจำนวน 1,247,406 คน จะทำให้ KTB รายได้ในส่วนนี้อย่างต่ำในงวดวันที่ 16 มิ.ย.2565 อย่างน้อย 13 ล้านบาท แต่หากคิดจากยอดขายฉลากทั้งหมด 5.2 ล้านใบ จะมีประชาชนเข้าทำรายการมากกว่า 1ครั้ง/คน จึงทำให้รายได้ KTB ในงวดนี้จากค่าธรรมเนี่ยมแตะราว 20 กว่าล้านบาท

Back to top button