คลัง เล็งปัดฝุ่น “ภาษีลาภลอย” เน้นที่ดินรับประโยชน์ “โครงการสาธารณูปโภค”

กระทรวงการคลัง เตรียมนำ พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่เคยผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2561 เน้นการเก็บภาษีในที่ดินที่ได้ประโยชน์จากโครงการของรัฐ เพื่อสร้างความเป็นธรรมระบบภาษี


นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เตรียมรื้อฟื้น การออก พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง หรือ ภาษีลาภลอย ออกมาอีกครั้ง เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบภาษีของประเทศ  เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย และเสนอให้ ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 แต่ยังไม่ได้รับการสานต่อ แต่อย่างไรก็ตามการจะนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้จะต้องพิจารณาในเวลาที่เหมาะสม

โดยแนวคิดของร่างกฎหมายดังกล่าว ในสมัยที่ตนเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันเมื่อหลายปีที่แล้ว ถือว่าเป็นกฎหมายที่ทำไว้สำหรับมองไปในอนาคต เมื่อเมืองมีการพัฒนา มีการลงทุนหลากหลายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟฟ้า ทางด่วน ก็ทำให้ราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียงโครงการของรัฐ ปรับราคาขึ้น ก็ควรแบ่งผลประโยชน์ส่วนหนึ่งมาให้กับรัฐด้วย

ทั้งนี้มีรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจาก ครม.เมื่อเดือน กรกฎาคม 2561 สมัยที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยกำหนดเพดานภาษีไว้ไม่เกิน 5% ของมูลค่าที่ดินที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามแนวรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ หรือโครงการสาธารณูปโภคตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนสาธารณูปโภคของรัฐ ที่ส่งผลให้ราคาที่ดินในบริเวณรัศมีโครงการสาธารณูปโภคปรับราคาสูงขึ้น สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีนี้ จะเป็นทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ที่มีที่ดินตั้งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากตัวสถานีขึ้นลง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง, รถไฟรางคู่, รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน, ท่าเรือ, สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่นๆ ที่จะกำหนดในกฎกระทรวง

อย่างไรก็ตาม ภาษีตัวนี้จะเก็บเฉพาะราคาที่ดินที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากผลของโครงการสาธารณูปโภค โดยหักตัวมูลค่าอาคารออกไป การจัดเก็บภาษี จะแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรก คือ ช่วงตั้งแต่วันลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคนั้นๆ จนถึงวันตรวจรับมอบโครงการ หรือเรียกว่าเป็นช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค การซื้อขายที่ดินในช่วงนี้ จะถูกจัดเก็บภาษีลาภลอยในทุกครั้งที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ โดยเก็บภาษีเฉพาะมูลค่าที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยใช้ฐานราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ณ วันที่ได้รับที่ดินแปลงนั้นมา กับราคาประเมินที่ดินในช่วงระหว่างก่อสร้างโครงการนั้น

ส่วนช่วงที่สอง คือ ช่วงที่ก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคนั้นแล้วเสร็จ จะเก็บภาษีเพียงครั้งเดียว ไม่ได้เก็บทุกครั้งที่เปลี่ยนมือ โดยเก็บภาษีจากมูลค่าที่ปรับเพิ่มขึ้น เฉพาะที่ดิน หรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น มูลค่าที่ดินที่ต่ำกว่านี้ไม่มีภาระภาษี และยกเว้นที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ดินเกษตรกรรม

Back to top button