กลัวแลนด์สไลด์! “ส.ส.รัฐบาล-ส.ว.” จับมือโหวตเอา “สูตรหาร500” คำนวณปาร์ตี้ลิสต์

กลัวแลนด์สไลด์! “รัฐบาล-ส.ว.” จับมือโหวตเอา “สูตรหาร500” คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ


เรียกว่าเป็นการ “กลับตัว 360 องศา” ของเหล่าบรรดา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. กับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. …ในมาตรา 23 เรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าจะใช้ 100 หาร หรือ 500 หาร ที่เรียกว่ากลายเป็นประเด็นที่ทำให้เหล่าบรรดา “กุนซือรัฐบาล” ต้องกลับมาฉุดคิด กับความนิยมของรัฐบาลในช่วงขาลง และปรากฎการณ์ “ชัชชาติ” ฟีเวอร์ ซึ่งทำให้พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่งคนลงชิมลางสนามการเลือกตั้ง กทม. พ่ายแบบไม่เป็นท่า

สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวานนี้ (6 กรกฎาคม 2565) ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการหาข้อสรุปว่า การเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะมีวิธีการคำนวณหาจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคอย่างไร หลังจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้กลับไปใช้วิธีการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ โดย 1 ใบเลือกตั้ง ส.ส.เขต จำนวน 400 คน และอีกหนึ่งใบเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน นั้นหมายความว่า ประชาชน 1 คนจะมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ 2 แบบ ต่างจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ประชาชน 1 คนจะมีสิทธิ์เลือกได้แค่ 1 ใบในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ก่อนจะนำคะแนนไปคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ จนเกิดปัญหาการคำนวณ ส.ส. จนถูกเรียกว่า “ส.ส.ปัดเศษ”

โดยการประชุมฯ ถือเป็นวันที่ 2 หลังเกิดเหตุสภาฯ ล่มในวันแรก ขณะที่จะลงมติมาตรา 6/3 ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ตามที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย เสนอให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เบอร์เดียวกัน โดยเมื่อเปิดประชุมนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานการประชุมได้สั่งให้ลงมติมาตรา 6/3 ปรากฏว่า สมาชิกเห็นด้วยให้เบอร์เดียว 150 ไม่เห็นด้วยให้คนละเบอร์ 341 งดออกเสียง 5 ไม่ออกเสียง 3 เสียง

จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 23 โดยสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติทยอยอภิปราย เริ่มจาก นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่สงวนคำแปรญัตติอภิปราย ย้ำถึงเหตุผลที่จะต้องมีการใช้สูตรหาร 500 ว่าเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 มีความมุ่งหมาย เพื่อแก้ไขสภาพปัญหาการเมืองในระยะที่ผ่านมา ที่ ส.ส.มิได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่เป็นตัวแทนพรรคการเมืองหรือเจ้าของพรรคการเมือง หลักที่สำคัญคือ ระบบ ส.ส.พึงมี ที่เป็นระบบการคิดสัดส่วน ส.ส.ที่ยุติธรรมที่สุด พรรคใดได้คะแนนพรรคกี่ % ก็มีสิทธิได้ ส.ส.พึงมีตามสัดส่วน % นั้น ในส่วนของการจัดสรรปันส่วนผสม ถือเป็นระบบที่ป้องกันการผูกขาดทางการเมือง เผด็จการรัฐสภา และจัดสรร ส.ส.ให้กระจายแก่พรรคเล็กๆ ที่มีความพร้อม การเสนอเช่นนี้หลักสำคัญไม่ใช่เพียงแค่พรรคเล็กจะไม่สูญพันธุ์ แต่เป็นการสกัดการแลนด์สไลด์ของพรรคใหญ่ ที่ได้ ส.ส.เขตเกิน ส.ส.พึงมีไม่ได้ และทุกคะแนนเสียงต้องไม่ตกน้ำ

สอดคล้องกับคสามเห็นของสมาชิกรัฐสภาอีกหลายท่าน อย่าง พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม, พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ส.ว. อภิปรายสนับสนุนให้ใช้สูตร 500 หาร คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่าไม่ขัดหลักการและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะทุกร่างกฎหมายที่เสนอมา ไม่มีร่างฉบับใด หรือรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ก็ไม่ได้ระบุให้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้วิธีหารด้วย 100 หรือ 500 จึงไม่ขัดหลักการแน่นอน กรณีที่เกิดปัญหาขึ้น ถือเป็นความผิดของทุกฝ่ายที่ละเลยไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 83, 86 และ 91 ไปด้วย หากจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตก็คงไม่มีใครขัดข้อง

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า แม้ไม่มีการบอกตรงๆ ให้ใช้ 100 หารในร่างกฎหมาย แต่ตนเคยถาม กมธ.ที่เป็น กกต.ในฐานะเป็นเจ้าของกฎหมายว่า การเขียนรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91 ที่ระบุถึงวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้คำนวณตามสัดส่วนแบบสัมพันธ์กันโดยตรง มีความหมายว่าอย่างไร กมธ.ที่เป็นตัวแทนจาก กกต.ตอบชัดเจนว่าให้คำนวณไปตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 คือการหารด้วย 100 เรื่องนี้มีเอกสารเยอะ ยังไงต้องเอารายงานการประชุมไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการพิจารณาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การใช้ 500 หารไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อประชาชนเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อมา แต่ไปกำหนดว่าถ้าได้คะแนนเกิน ก็ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถามว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ประชาชนตรงไหน

จากนั้นได้มีการสลับกันอภิปรายอย่างต่อเนื่อง สลับกับการคอยประท้วงตลอดเวลา กระทั่งเกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อยเมื่อฝ่ายรัฐบาลพยายามที่จะขอให้ประธานที่ประชุมสรุปการรับฟังความเห็นต่างๆ เพื่อลงมติในมาตรา 23 ทำให้ฝ่ายค้านลุกขึ้นตอบโต้และจะขออภิปรายเพิ่มเติมอีก ซึ่งนายพรเพชรให้อภิปรายต่ออีกเล็กน้อย

กระทั่งเวลา 21:45 น. ที่ประชุมลงมติ เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติให้ใช้สูตรหาร 500 คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยคะแนนเสียง 392 เสียงต่อ 160 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง.

สำหรับเหตุผลที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ส.เปลี่ยนใจนาทีสุดท้ายก่อนการลงมติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เสียงส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับสูตรการคำนวณ ส.ส.ด้วยวิธีการหาร 100 นั้น มีรายงานว่า ทีมยุทธศาสตร์ของรัฐบาลประเมินถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่ต้องยอมรับอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะคะแนนความนิยมของพรรคพลังประชารัฐ เห็นได้จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้คะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์ ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่า ผู้ว่าฯกทม. ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคเพื่อไทย จนเสียงจากฝั่งเพื่อไทย และฝั่งตรงกันข้ามเทคะแนนให้ ประกอบกับความคิดของคนส่วนในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีมุมมองทางการเมืองที่เปลี่ยน จึงเป็นที่มาที่ พรรคเพื่อไทย ประกาศยุทธศาสตร์ เลือก “เพื่อไทย ให้แลนด์สไลด์” พร้อมชู “แพรทองธาร ชินวัตร” ลูกสาวอดีตนายก “ทักษิณ ชินวัตร” มานำทัพสู้ศึกเลือกตั้งรอบหน้าในฐานะ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้บรรดา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.โหวตสวนมติ กมธ.เสียงข้างมาก ไปใช้สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ด้วยการใช้จำนวน ส.ส. 500 เป็นตัวหาร เพื่อให้ได้ ส.ส.พึ่งมีของพรรคการเมืองนั้นๆ ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 ครั้งล่าสุด เรียกได้ว่า ถอดแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เพราะเมื่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีได้ 100 คน ก็ต้องใช้หลักสัดส่วนความสัมพันธ์ตามเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกพรรคการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งแยกจากการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตอย่างชัดเจน ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการเลือกผู้สมัครคนใด และสุดท้ายเรื่องนี้อาจต้องไปจบที่การวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อตีความว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

Back to top button