โบรกเคาะซื้อ 3 หุ้น “หมู-ไก่” รับอานิสงส์ราคาขึ้น-บาทอ่อนค่า

CPF-GFPT-TFG รับประโยชน์ราคาหมู-ไก่ ปรับตัวขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดส่งผลให้ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/65 เติบโตแข็งแกร่งจากไตรมาสก่อนหน้า และเงินบาทอ่อนค่าช่วยหนุน  


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาเนื้อหมูในประเทศไทยทรงตัวอยู่ที่ 101.50 บาท/กก. ในขณะที่ราคาไก่เพิ่มขึ้น 8.1% เป็น 46.50 บาท/กก. ส่วนราคาหมูในประเทศจีนเพิ่มขึ้น 25.2% เป็น 22.3 หยวน/กก. เนื่องจากอุปสงค์เพิ่มขึ้น และรัฐบาลจีนกลับมาตุนสต็อกเนื้อหมู

ขณะที่การส่งออกไก่จากประเทศไทยเพิ่มขึ้น 12.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ในเดือนพฤษภาคมเป็น 1.04 หมื่นล้านบาท เนื่องจากอุปสงค์แข็งแกร่ง ราคาขายเพิ่มขึ้น และเงินบาทอ่อนค่าลง โดยยอดส่งออกไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น 15.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็น 7.8 ล้านบาท จากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะในยุโรปเพิ่มขึ้น 67% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไก่จากยูเครนยังคงถูกกระทบจากกรณีพิพาทกับรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์จากญี่ปุ่นลดลงเล็กน้อย 1.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากฐานที่สูงในปีที่แล้ว และการอ่อนค่าของเงินเยน ในขณะเดียวกันยอดส่งออกไก่แซ่แข็งเพิ่มขึ้น 5.0% เป็น 2.6 พันล้านบาท จากการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้น 51%, ฮ่องกง เพิ่มขึ้น 49% และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 29%

สำหรับจากอุปสงค์การส่งออกที่แข็งแกร่ง และ spread ที่สูงขึ้นส่งผลให้ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คาดว่าผลประกอบการของผู้ผลิตเนื้อสัตว์ในไตรมาส 2 ปี 2565 จะออกมาน่าประทับใจ โดยคาดว่า spread ของไก่จะเพิ่มขึ้น 3.5% เป็น 20.1 บาท/กก. ในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะทำให้ spread เพิ่มขึ้นถึง 54% จากไตรมาสก่อนในไตรมาส 2 ปี  2565 เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน

โดย spread ของหมูในไตรมาส 2 ปี 2565 จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยห้าปีย้อนหลังถึง 52% และ Spread ของไก่จะสูงกว่าถึง 51% ดังนั้นคาดกำไรของ GFPT และ TFG ซึ่งธุรกิจทั้งหมดมีฐานอยู่ในประเทศไทยจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งจากไตรมาสก่อน และจากงวดเดียวกันของปีก่อนก่อน ในขณะเดียวกันคาดว่ากำไรของ CPF จะเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากไตรมาสก่อน แต่ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาหมูในต่างประเทศสูงในไตรมาส 1 ปี 2564

ทั้งนี้ ยังคงมองบวกกับแนวโน้มของผู้ผลิตเนื้อสัตว์ในไตรมาส 2 ปี 2565 และไตรมาส 3 ปี 2565 โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ” CPF, GFPT และ TFG อย่างไรก็ตามยังคงเลือก TFG เป็นหุ้นเด่นเนื่องจากบริษัทจะได้อานิสงส์เต็มที่จากราคาเนื้อสัตว์ในประเทศที่สูง และการเพิ่มกำลังการผลิตในอีกสองสามปีข้างหน้า

ส่วนก่อนหน้ามีการประเมินว่า บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG คาดว่าปริมาณการส่งออกไก่จะเพิ่มขึ้น 25% ในปี 2565 เป็น 75,000 ตัน ตามอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากยุโรป และมาเลเซีย ในขณะเดียวกันราคาขายไก่ก็ดีขึ้นทั้งในตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกสำหรับธุรกิจหมู ราคาที่พุ่งสูงขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2565 ส่งผลให้ปริมาณยอดขายลดลง 16% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามบริษัท คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ จึงปรับเพิ่มประมาณการรายได้จากธุรกิจไก่ของ TFG ปี 2565 ขึ้นอีก 10% และปี 25666 ขึ้นอีก 17% และปรับเพิ่มประมาณการรายได้จากธุรกิจหมูขึ้นอีก 6% และ 11% ตามลำดับ

นอกจากนี้ TFG ยังคงมีแผนเชิงรุก ที่จะขยายสาขาร้านจําหน่ายสินค้าปลีก โดยคาดว่าจะเปิด 200 สาขาภายในสิ้นปี
นี้จากเพียง 85 ร้านในปี 2564 โดยในปัจจุบันมีจํานวนสาขา 185 ร้านที่อยู่ใน pipeline แล้ว ทั้งนี้ ผู้บริหารบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะเพิ่มจํานวนสาขาเพิ่มอีกเป็น 230-250 ร้านในปีนี้ และเป็น 350-400 ร้านในปีหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงใช้สมมติฐานแบบอนุรักษ์นิยมที่ 200 ร้านในปีนี้ แต่ปรับเพิ่มประมาณการปีหน้าเป็น 300 ร้าน ทั้งนี้ การที่ TFG มีช่องทางการจัดจําหน่ายของตัวเองทำให้ราคาขายชิ้นส่วนไก่ (byproduct) เพิ่มขึ้น 20-30% ส่งผลให้ margin ของธุรกิจไก่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ

อีกทั้งปรับเพิ่มประมาณการกําไรสุทธิของ TFG ปีนี้ขึ้นอีก 10% เป็น 2.51 พันล้านบาท และปี 2566 ขึ้นอีก 16% เป็น 2.95 พันล้านบาท เนื่องจาก 1) ปรับเพิ่มประมาณการยอดขายปี 2565 ขึ้น 5% เป็น 4.56 หมื่นล้านบาท และปี 2566 ขึ้น 10% เป็น 5.13 หมื่นล้านบาท และ 2) ปรับเพิ่ม GPM ปีนี้ขึ้นอีก 20% เป็น 15.2% และปีหน้าขึ้นอีก 30% เป็น 15.1% เนื่องจาก margin ของธุรกิจไก่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังได้ปรับเพิ่มสมมติฐานต้นทุนทางการเงินในปีหน้าขึ้นอีก 12% ด้วย เพื่อสะท้อนถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย

ดังนั้นยังคงคำแนะนํา “ซื้อ” TFG และขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 8.20 บาท อิงจาก PER ที่ 17.0 เท่า

ขณะที่คาดว่ากําไรปกติของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ในไตรมาส 2 ปี 2565 จะอยู่ที่ 3.85 พันล้านบาท (ลดลง 3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 128% จากไตรมาสก่อน) และเมื่อรวมกําไรพิเศษ 500 ล้านบาทจากการปรับมูลค่าเหมาะสมของบริษัทลูกจะทำให้กําไรสุทธิอยู่ที่ 4.25 พันล้านบาท (ลดลง 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 48% จากไตรมาสก่อน) โดยกําไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากไตรมาสก่อน เป็นเพราะราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้นส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น 5% เป็น 1.46 แสนล้านบาท และทําให้ GPM เพิ่มขึ้น 90bps เป็น 13.7%

นอกจากนี้ ยังคาดว่าราคาหมูที่แพงขึ้นในประเทศไทย และเวียดนามจะทําให้บริษัทมีกําไร 1.4 พันล้านบาทจากการปรับมูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ชีวภาพ เพิ่มขึ้นจากที่บันทึกกําไรดังกล่าว 1.1 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2565 ในขณะเดียวกันคาดว่า JVs และบริษัทในเครือจะส่งผลกําไรมาที่ CPF ที่ 1.1 พันล้านบาท จากที่ส่งผลขาดทุน 336 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2565 เพราะคาดว่า CTI (ธุรกิจฟาร์มหมู และอาหารสัตว์ในประเทศจีน) จะมีผลขาดทุนลดลงเนื่องจากราคาหมูเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 13% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ และราคาขายสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทย อย่างไรก็ตามคาดว่า GPM จะลดลง 270% เนื่องจากราคาหมูในประเทศเวียดนามลดลง 20% จากฐานที่สูงในปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน คาดว่า margin ในประเทศอื่นๆ (นอกเหนือจากประเทศไทย) จะลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปรับราคาตามต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นได้ช้า ทั้งนี้ เราคาดว่าราคานํ้ามันที่สูงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อโลกจะดันให้สัดส่วน SG&A ต่อยอดขายเพิ่มขึ้น 90% จากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 9.6%

อีกทั้งปรับเพิ่มประมาณการกําไรปกติปีนี้ขึ้นอีก 39% เป็น 1.51 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก 1) ปรับเพิ่มส่วนแบ่งกําไรจาก JVs และบริษัทในเครือขึ้นจากเดิม 91% มาอยู่ที่ 6.1 พันล้านบาท โดยสาเหตุสำคัญมาจากผลการดําเนินงานของ CTI ดีขึ้นจากการที่เราปรับเพิ่มสมมติฐานราคาหมูในประเทศจีนขึ้น 23% เป็น 18.5 หยวน/กก. และ 2) ปรับเพิ่มประมาณการกําไรจากสินทรัพย์ชีวภาพขึ้นอีก 64% เป็น 2.3 พันล้านบาท เนื่องจากคาดว่าราคาหมูในประเทศไทยจะสูงขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับกําไรพิเศษอีก 1.6 พันล้านบาท ทําให้ปรับเพิ่มประมาณการกําไรสุทธิปีนี้ขึ้นอีก 54% เป็น 1.67 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 28% จากงวดเดียวกันของปีก่อน)

นอกจากนี้ยังปรับเพิ่มประมาณการกําไรปกติ และกําไรสุทธิปี 2565 เป็น 1.67 หมื่นล้านบาท เนื่องจากส่วนแบ่งกําไรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 5% มาอยู่ที่ 1.16 หมื่นล้านบาท จะหักล้างไปกับผลขาดทุนจากสินทรัพย์ชีวภาพที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 300% เป็น 1.2 พันล้านบาท

ดังนั้น ยังคงคําแนะนํา “ซื้อ” CPF ขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 33.75 บาท (ประเมินมูลค่าธุรกิจการเกษตรที่ 11.75 บาท และธุรกิจค้าปลีกที่ 22.00 บาท) จากเดิมที่ 30.50 บาท

รวมถึงคาดว่ากําไรปกติของ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ในไตรมาส 2 ปี 2565 จะอยู่ที่ 429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 136% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน) โดยคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 17% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 9% จากไตรมาสก่อน เป็น 4.35 พันล้านบาทเนื่องจากราคาไก่ขยับสูงขึ้น โดยราคา
ที่สูงขึ้นยังช่วยหนุนให้ GPM เพิ่มขึ้น 460% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 70% จากไตรมาสก่อน เป็น 14.9% อีกด้วย

โดยคาดว่าสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายจะเพิ่มขึ้น 40% จากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 9.3% เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งแพงขึ้น แต่คาดว่าจะลดลง 30% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการประหยัดต่อขนาด คาดว่า GFPT จะมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 10 ล้านบาท เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลง จากที่มีกําไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 30 ล้านบาทในไตรมาส1 ปี 2565 ทั้งนี้ คาดว่ากําไรสุทธิในงวดครึ่งแรกของปี 2565 จะคิดเป็น 49% ของประมาณการกําไรปีนี้

รวมทั้งยังคงมองบวกกับแนวโน้มผลประกอบการของ GFPT โดยคาดว่ากําไรรายไตรมาสจะทําสถิติสูงสุดใหม่ในไตรมาส 3 ปี 2565 เนื่องจากเป็นช่วง high season ของการส่งออก และอัตรากําไรอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น และมีอุปสงค์สินค้าที่ใช้แทนเนื้อหมูทําให้คาดว่าราคาไก่เนื้อจะยังสูงต่อเนื่อง ดังนั้น จึงปรับเพิ่มสมมติฐานราคาไก่เนื้อปีนี้ขึ้นอีก 5% เป็น 43 บาท/กก.ในขณะเดียวกันคาดว่าต้นทุนอาหารสัตว์จะทยอยกลับมาอยู่ระดับปกติในครึ่งหลังของปี 2565 ถึงปี 2566 และทําให้ราคาเนื้อสัตว์ลดลงในปี 2566 จึงยังคงสมมติฐานราคาไก่เนื้อปี 2566 เอาไว้เท่าเดิมที่ 40 บาท/กก.

ทั้งนี้ปรับเพิ่มประมาณการกําไรสุทธิปี 2565 ขึ้นอีก 19% เป็น 1.80 พันล้านบาท เนื่องจาก 1) ปรับเพิ่ม GPM ขึ้น 130% เป็น 15.3% เนื่องจากคาดว่าราคาขายจะเพิ่มขึ้น และต้นทุนอาหารสัตว์จะลดลง 2)ปรับลดสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายลง 30% เหลือ 9.3% จากการประหยัดต่อขนาด และ 3) ปรับเพิ่มส่วนแบ่งกําไรจาก GFN ขึ้นอีก 30 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายสูงขึ้น และสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานคลี่คลายดีขึ้น สําหรับปี 2566 ปรับเพิ่มประมาณการกําไรสุทธิขึ้นอีก 9% เป็น 1.84 พันล้านบาทเนื่องจาก 1) คาดว่าต้นทุนอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง) จะลดลง ซึ่งจะช่วยให้ GPM ของ GFPT เพิ่มขึ้น 80% เป็น 15.0% และ 2) คาดว่าจะมีกําไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 50 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น

ดังนั้น ยังคงคำแนะนํา “ซื้อ” GFPT และขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 21.50 บาท อิงจาก PER ที่ 14.6 เท่า

Back to top button