BGRIM สตาร์ทเครื่อง COD โรงไฟฟ้าโคเจน “แหลมฉบัง 1” 140MW ป้อนกฟผ.-ลูกค้านิคม

BGRIM สตาร์ทเครื่อง COD โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม แหลมฉบัง 1 กำลังการผลิตติดตั้ง 140 เมกะวัตต์ เมื่อ 16 ก.ค.65 เดินหน้าขายไฟฟ้าให้กฟผ. และลูกค้านิคมอุตสาหกรรม รองรับ EEC


บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM หนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ประกาศเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม แหลมฉบัง 1 กำลังการผลิตติดตั้ง 140 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 103 เมกะวัตต์ โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม แหลมฉบัง 1 ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ภายใต้รูปแบบโรงไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม (SPP) โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ กับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี

ส่วนที่เหลือเป็นการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับลูกค้าอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อาทิ กลุ่มยานยนต์ ยางรถยนต์ บรรจุภัณฑ์ ก๊าซอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้ได้รับการสนับสนุนไฟฟ้าและไอน้ำที่มีเสถียรภาพในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม แหลมฉบัง 1 เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม (SPP Replacement) ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นโครงการที่ 1 จากทั้งหมด 5 โครงการ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 700 เมกะวัตต์ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง คาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม จะช่วยลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติต่อหน่วยลงจากเดิม 15%

สำหรับแผนการลงทุนจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ตั้งเป้าขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงร่วมทุนกับพันธมิตรต่าง ๆ โดยวางงบลงทุนทั้งหมดประมาณ 140,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุน 5 ปี เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) ตามแผนในปัจจุบัน และโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายโครงการทั้งที่เป็นโครงการใหม่ (กรีนฟิลด์) และการซื้อกิจการ (M&A) โดยในปีนี้คาดว่าจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และมีลูกค้าอุตสาหกรรมใหม่ที่ซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 55 เมกะวัตต์

ส่วนเป้าหมายระยะยาว บี.กริม เพาเวอร์ มีเป้าหมายการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 68 และ 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 73 โดยมองเห็นโอกาสในการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในไทย เอเชีย รวมไปถึงยุโรป และสหรัฐอเมริกา พร้อมก้าวสู่บริษัทผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก ส่วนเป้าหมายระยะยาวของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่สำคัญ คือเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี 93

Back to top button