โบรกคัด 8 หุ้นสู้ “บาทอ่อน” ชู MEGA เด่น ไร้กระทบ “เมียนมา” สั่งระงับจ่ายหนี้ต่างประเทศ

"บล.โนมูระ" คัด 8 หุ้นรับประโยชน์ "เงินบาท" อ่อนค่า พร้อมชู MEGA เด่น ไม่กระทบกรณี “เมียนมา” สั่งระงับการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ


บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ Pi ประเมินแนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีโอกาสฟื้นตัวในกรอบ 1,525 – 1,550 เชื่อว่าตลาดจะให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อสหรัฐฯที่ผ่านจุดสูงสุดแล้วในการประกาศครั้งที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายๆ ชนิดได้ปรับฐานลงมา อาทิ น้ำมันดิบ BRT (-14.6% จากเดือนก่อน) ทองแดง (-25% จากเดือนก่อน) อลูมิเนียม (-10% จากเดือนก่อน) ค่าระวางเรือ (-16% จากเดือนก่อน) ข้าวสาลี (-29% จากเดือนก่อน)

ขณะที่หากพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯต่อความคิดของตลาดพบว่าตลาดยังให้น้ำหนักมากสุดที่ FED จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมสิ้นเดือนนี้ที่ 0.75% (70.9%) และอีก 29% ให้น้ำหนักขึ้นดอกเบี้ย 1% จากก่อนหน้าคาดจะขึ้นดอกเบี้ย 1% ด้วยโอกาส 80% สะท้อนความผ่อนคลายลงของนักลงทุน เชื่อว่าตลาดให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อที่จะเบาบางลงจากนี้

ดังนั้น ความเข้มงวดจากดอกเบี้ยจึงผ่อนคลายลง ส่วนปัจจัยในสัปดาห์นี้ของสหรัฐฯจะเน้นไปที่ภาคอสังหาฯ โดยวันอังคารจะมี (1) ใบอนุญาตก่อสร้าง Bloomberg คาดที่ 1.69 ล้าน (2) จำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้าง Bloomberg คาดที่ 1.6 ล้าน วันพุธจะมียอดขายบ้านมือสอง Bloomberg ประเมินที่ 5.4 ล้านหลังคาเรือน และสุดท้ายวันศุกร์จะมีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) Bloomberg ประเมินที่ 52.6 เชื่อว่าตลาดอยากเห็นตัวเลขที่ดีกว่าคาดเพื่อคลายกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย อื่นๆ จะเป็นการประกาศผลประกอบการทั้งในประเทศและของสหรัฐฯ เชิงกลยุทธ์แนะหุ้นได้ประโยชน์สินค้าโภคภัณฑ์ลดลง อาทิ (CBG, OSP) รวมไปถึง (SCC, SCGP) และ (CPG, GFPT, TFG) ตามทิศทางราคากากถั่วเหลืองลดลง ค้าปลีก (BJC, CPALL)

ด้าน COM7 แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 38.75 บาท มองราคาหุ้นปรับฐานสะท้อนความกังวลอุปสงค์ชะลอตัวรวมถึงภาวะเงินเฟ้อไปพอสมควรแล้ว ขณะที่กำไรในปี 65 ยังคาดจะเห็นการเติบโตราว 22% โดยมีอีกปัจจัยหนุนจากความกังวลเงินเฟ้อโลกที่คลี่คลายลง

ขณะที่ SCGP แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 66.00 บาท คาดธุรกิจปกติของบริษัทจะเติบโตแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี 65 จากการขยายกำลังการผลิตและอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นพร้อมประเมินว่าราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายจะโตต่อเนื่องตามต้นทุนที่สูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อ บวกกับการบริโภคในประเทศและตลาดส่งออกที่ปรับดีขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ (19 ก.ค.65) มองกลุ่มที่เคลื่อนไหวดีกว่าตลาด ได้แก่

1) หุ้นได้ประโยชน์ค่าเงินบาทอ่อน (GFPT, CPF, SAPPE, ASIAN, MEGA, KCE, BDMS, BH) ทั้งนี้ MEGA และ BH ให้เน้นตั้งรับจากจิตวิทยาที่ได้รับกรณีเมียนมาร์ปรับกฎเกณฑ์ประกอบธุรกิจ

2) กลุ่ม Defensive/Value Plays ที่ปรับฐานลงแรงกว่าตลาด (ADVANC, TIDLOR, AMATA, INTUCH, DTAC, SCC, BCH, CHG, JASIF)

3) กลุ่ม High Growth ที่หุ้นผ่านการปรับฐานมาแล้ว (JMT, JMART, KCE, IIG, TIDLOR, BE8, BBIK)

ทั้งนี้ JMART ให้เน้นตั้งรับจากจิตวิทยาลบกรณี Apple เตรียมลดการจ้างงาน ส่วนกลุ่มหุ้นที่เน้นตั้งรับเพื่อลงทุนระยะยาว คือ 1) กลุ่ม Anti-Commodities ที่ได้ประโยชน์ราคาน้ำมันที่ปรับลง (SCGP, GPSC, BGRIM, CBG, SCC) 2) หุ้นกลุ่ม Reopening ที่ปรับฐานลงมาแรงพร้อมกับตลาด (HMPRO, TIDLOR, CPALL, MAKRO), กลุ่ม Laggard หรือมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด (KTC, MAJOR, BEM) และ 3) กลุ่มธนาคาร (KBANK, BBL, SCB)

ทั้งนี้ จากกรณีธนาคารกลางเมียนมาออกคำสั่งให้ธนาคารที่ได้รับอนุญาตแจ้งลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ระงับการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ ทั้งในรูปเงินสดและที่คล้ายเป็นเงินสดเพื่อรักษาปริมาณทุนส ารองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง พร้อมกันนั้น รัฐบาลยังสั่งห้ามนำเข้ารถยนต์สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงน้ำมันประกอบอาหารเพื่อรักษาปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะยังอนุญาตให้ใช้เงินหยวนและเงินบาท เพื่อการค้าชายแดนกับจีนและไทยอยู่ก็ตาม

โดยมองว่าประเด็นดังกล่าวไม่กระทบต่อ MEGA เนื่องจาก 1) ประเด็นการหยุดชำระหนี้: ไม่กระทบเพราะธุรกิจ MEGA ในเมียนมา ไม่มีเงินกู้ต่างประเทศ

2) ประเด็นเงินจ๊าดอ่อนค่าและการ PEG ค่าเงินจ๊าดกับดอลลาร์สหรัฐ: MEGA ตั้งราคาขายเป็นดอลลาร์สหรัฐ แต่รับเงินเป็นสกุลจ๊าด ดังนั้นการ PEG ค่าเงินที่1850 จ๊าด/ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ช่วงต้น เม.ย.22 กลับได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น (เฉลี่ยตั้งแต่ปลายปี 64 ก่อน PEG ค่าเงิน อยู่ที่ราว 1,775 จ๊าด/ดอลลาร์สหรัฐ)

3) ประเด็นการจำกัดการนำเข้า: MEGA มีรายได้จากเมียนมาราว 35% ของรายได้รวม ซึ่งเป็นธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณ์ยาและสินค้าอุปโภคบริโภค โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นยาถึง 65% และที่เหลือเป็นสินค้าอุปโภคจำเป็นของใช้จำเป็นไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งคาดว่าไม่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดการนำเข้า

Back to top button