“เมียนมา” ผ่อนปรนนโยบาย “บาท-จ๊าด” ไทยค้าชายแดน ดันปีนี้ทะลุ 1.8 แสนล้าน

“เมียนมา” ระงับจ่ายหนี้สกุลดอลลาร์ สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ชี้กระทบเฉพาะธุรกิจที่เข้าไปลงทุนทางตรง แต่ค้าชายแดน กลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง กลับได้รับอานิสงส์จากนโยบายบาท-จ๊าด มั่นใจมูลค่าค้าชายแดนปี 65 เกิน 1.8 แสนล้านบาท


นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยว่า หลังธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา ได้ออกประกาศให้มีการระงับชำระหนี้ที่เป็นหนี้สกุลดอลลาร์ ซึ่งเป็นการออกมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นอีกครั้ง เชื่อว่าเรื่องนี้ภาคธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมากำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะนโยบายดังกล่าวเมียนมาได้ให้ประเทศต่างๆที่มีเงินฝากที่อยู่ในเมียนมา หรือเงินชำระค่าสินค้าที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ ให้แลกเป็นเงินจ๊าดทันที ทั้งนี้เพื่อพยุงไม่ให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ และแก้ไขปัญหาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ถดถอย

ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อนักธุรกิจ และนักลงทุนไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนทางตรงที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา เช่น โครงการขนาดใหญ่ โรงงาน เป็นต้น หรือแม้กระทั่งแต่นักธุรกิจที่เป็นลูกหนี้กับธนาคารในเมียนมา เพราะในกลุ่มนี้จะต้องมีการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ส่วนการค้า การลงทุน ที่ซื้อมาขายไป และการค้าชายแดนจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเมียนมายังผ่อนปรนให้มีการใช้นโยบายบาท-จ๊าด และหยวน-จ๊าด ให้ไทยกับจีนในการดำเนินการค้าชายแดนอยู่

นายกริช กล่าวอีกว่า นโยบายบาท-จ๊าด ของเมียนมาจะส่งผลดีกับธุรกิจการค้าชายแดน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค คาดว่าจะทำให้กลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง ของไทยคึกคักเพราะไทยมีชายแดนติดกับเมียนมาจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายบาท-จ๊าด และได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันทางการค้าที่ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายบาท-จ๊าด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะหันมาซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้นด้วย

สำหรับตัวเลขการค้าชายแดนไทย–เมียนมา ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 108,000 ล้านบาท เติบโตกว่าช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า ทั้งนี้มองว่าตลอดทั้งปี 2565 จะสามารถเติบโตไปได้อีกจากปี 2564 โดยคาดการค้าชายแดนไทย–เมียนมา ทุกด่านศุลกากรมีมูลค่า 180,000 ล้านบาท แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 ยังคงกดดันอยู่ อย่างไรก็ตามยังสามารถเติบโตได้จากปัจจัยบวกของกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตยังมีดีมานด์สูงขึ้นในเมียนมา และสินค้าไทยยังมีความนิยม (Brand Loyalty) จากลูกค้าชาวเมียนมา

นายกริช กล่าวทิ้งทายว่า เทรนด์การลงทุนในธุรกิจใหม่ในเมียนมาที่คาดว่าจะมาแรงจากกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และเวชภัณฑ์ ยา มีโอกาสที่จะเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง

Back to top button