ผู้ว่า “แบงก์ชาติ” เล็งทยอยขึ้นดอกเบี้ยสู้ “เงินเฟ้อ” ควบคู่มาตรการดูแล “กลุ่มเปราะบาง”

ผู้ว่าฯ “ธปท.” ประเมิน GDP ไทยช่วงไตรมาส 2/65 โต 3% ขณะที่เล็งปรับขึ้นดอกเบี้ยสอดรับกับ “เงินเฟ้อ” ที่สูงขึ้น โดยธปท.ยังมีมาตรการในการดูแลกลุ่มเปราะบางเพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/65 จะสามารถเติบโตได้มากกว่า 3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ มูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ราว 1.5 ล้านคน ซึ่งทั้งปีนี้คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 6 ล้านคน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถือว่าฟื้นตัวขึ้นชัดเจน แต่ยังไม่ทั่วถึง (K-shaped) โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 65 จะขยายตัวได้ 3.3% โดยยังมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น คาดทั้งปีอยู่ที่ระดับ 6.2% ซึ่งจะทำให้การส่งผ่านต้นทุนกระจายไปยังสินค้าหลายหมวดมากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนผู้ว่างงานลดลงเหลือ 2.4 ล้านคนในปี 2566 ใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 ที่ 2.3 ล้านคน

อย่างไรก็ดี สำหรับตัวเลข GDP ไตรมาส 2/65 อย่างเป็นทางการนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะมีการรายงานในกลางเดือน ส.ค. 65

แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มการฟื้นตัว แต่สมดุลความเสี่ยงได้เปลี่ยนไป ที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นคือเรื่องของเงินเฟ้อ ทำให้โจทย์ในการทำนโยบายต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่การอัดฉีดหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป้าหมายสำคัญคือการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด เป็นบริบท smooth take off ต่างกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ที่ต้องทำนโยบายแบบ soft landing” ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

ทั้งนี้ ธปท. จะต้องทยอยปรับนโยบายและมาตรการทางการเงินที่เป็นวงกว้างในภาวะปกติ โดยนโยบายการเงินผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตลาดว่าเงินเฟ้อจะไม่เพิ่มขึ้นอีก โดยการขึ้นดอกเบี้ยจะต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด ก็จะต้องทำแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง หากเครื่องยนต์เงินเฟ้อติด การขึ้นดอกเบี้ยก็จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินเฟ้อกลับลงมาอยู่ในกรอบ

โดยประมาณการว่าเงินเฟ้อของไทยจะขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ไตรมาส 3/65 ที่ 7.5% จากนั้นจะทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ 5.9% ในไตรมาส 4/65 และเริ่มลงไปอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/66 ที่ระดับ 2.5% และเหลือ 1.7% ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4/66

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยย่อมมีผลกระทบ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักกับภาพรวมเศรษฐกิจก็เหมาะสมที่จะต้องทำ โดยต้องดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยด้วย ซึ่งในส่วนของสินเชื่อรายย่อยปัจจุบันราว 60% ใช้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ขณะที่สินเชื่อบ้านแม้ว่าจะเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว แต่ส่วนใหญ่จะกำหนดค่างวดไว้แล้ว การขึ้นดอกเบี้ยจึงจะกระทบกับลูกหนี้ใหม่ ซึ่งจะต้องประเมินรายได้และรายจ่ายก่อนก่อหนี้

โดย ธปท. มีมาตรการในการดูแลกลุ่มเปราะบางในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นมาตรการเดิมที่มีผลอยู่ ได้แก่ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว (3 ก.ย.) ซึ่งจะสิ้นสุดปี 66 รวมถึงโครงการพักทรัพย์พักหนี้ และโครงการสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งจะสิ้นสุด เม.ย. 66 ถ้าหากจำเป็นก็สามารถขยายมาตรการไปได้ และจะมีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย ผันผวน ใช้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ยังไม่กลับมาเต็มที่และค่าครองชีพสูงขึ้น ในกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย เช่น ลดอัตราผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ 5% ถึงปี 66 ขยายเวลาชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 12 เดือนอีก 1 ปี ถึงปี 66 ส่วนกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย ก็จะปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของคลินิกแก้หนี้ พร้อมทั้งจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3/65

ส่วนความจำเป็นที่จะต้องจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษนั้น นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ถ้ามี ก็ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ว่าจะมีการเรียกประชุม แต่ ณ ขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีการเรียกประชุม กนง. นัดพิเศษ เพราะปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจยังอยู่ในคาดการณ์ ต้องดูบริบทเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และฟื้นช้ากว่าเพื่อนบ้าน เงินเฟ้อระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบ

เงินเฟ้อระยะสั้น ที่สูงแตะระดับ 7.66% ไม่เถียงว่าสูง และใกล้ระดับคาดการณ์ โดยหากปัจจัยทั้งหมดไม่เป็นไปตามนี้ ก็อาจจะต้องมีการประชุมนัดพิเศษ แต่หากโดยรวมยังเป็นไปตามคาดการณ์ ก็ไม่จำเป็นต้องประชุมนัดพิเศษแต่อย่างใด” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ ยังได้ชี้แจงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาท และเงินทุนสำรอง โดยระบุว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ จะส่งผลให้เงินทุนไหลออก ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน และเงินทุนสำรองลดลง ส่งผลให้เสถียรภาพการเงินไทยเปราะบาง และใกล้เข้าสู่วิกฤติคล้ายปี 2540 นั้น หลายเรื่องไม่ตรงกับความเป็นจริง และเศรษฐกิจไทยไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น

ยืนยันว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่ยังมีปัจจัยอื่น เช่น การฟื้นตัว เสถียรภาพของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยตั้งแต่ต้นปีถึง 18 ก.ค.65 ไทยยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศที่ดอกเบี้ยสูงกว่าสหรัฐฯ เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย ยังเผชิญกับปัญหาเงินทุนไหลออก” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ส่วนกรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนลงมากเพราะเงินทุนไหลออก ก็ไม่เป็นความจริง โดยตั้งแต่ต้นปี เงินบาทที่อ่อนค่าลงมาจากปัจจัยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าเป็นหลัก และปกติเงินบาทมักเคลื่อนไหวจากปัจจัยภายนอก ซึ่งมีสัดส่วนถึง 86% และแม้ว่าช่วงที่มีเงินทุนไหลเข้า เงินบาทก็สามารถอ่อนค่าได้

ส่วนค่าเงินบาทจะมีโอกาสจะแตะระดับ 37 บาท/ดอลลาร์หรือไม่นั้น ธปท. ยืนยันว่า ไม่ได้มีการกำหนดว่าค่าเงินควรอยู่ที่ระดับเท่าใด และต้องการให้ค่าเงินมีการเคลื่อนไหวจากปัจจัยพื้นฐาน เช่น กรณีนี้เกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เงินบาทก็ต้องอ่อน ทั้งนี้ ยังไม่พบสัญญาณการเก็งกำไร ค่าเงินยังมีการเคลื่อนไหวอย่างคล่องเป็นค่อยเป็น แต่ยังมีความผันผวนสูง ดังนั้นผู้ประกอบการต้องมีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการระบุว่าเงินทุนสำรองลดลง เพราะต้องนำไปใช้พยุงค่าเงินบาทนั้น ก็ไม่เป็นความจริง โดยการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองมาจาก 3 ปัจจัย ในกรณีของไทยในช่วงนี้มาจากการตีมูลค่าของสินทรัพย์ (Valuation) หรือเกิดจากการตีมูลค่าสินทรัพย์กลับมาอยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหลัก เพราะดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า รวมทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนการลงทุนและการดำเนินนโยบายค่าเงินของ ธปท. บางส่วน ขณะที่เงินทุนสำรองของประเทศอื่นก็ปรับลดลงเช่นกัน และหลายประเทศก็ไม่ได้เข้าไปพยุงค่าเงิน

ส่วนที่มีการมองว่าเงินทุนสำรองที่ลดลง จะกระทบกับเสถียรภาพการเงินไทยจนเกิดวิกฤติแบบปี 2540 นั้น ก็ไม่เป็นความจริง โดยเงินทุนสำรองของไทยล่าสุดอยู่ที่ 2.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 51% ของ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 และอันดับ 6 ของโลกตามลำดับ โดยเงินทุนสำรองคิดเป็น 2.6 เท่าต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น คิดเป็น 9.6 เท่าต่อมูลค่าการนำเข้า

Back to top button