“หุ้นเอเชีย” เปิดลบ ตามดาวโจนส์ จับตาประชุม “เฟด” สัปดาห์นี้

“ตลาดหุ้นเอเชีย” เปิดลบ โดยถูกกดดันตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงวันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนผิดหวังผลประกอบการของบริษัทสแนป ขณะที่นักลงทุนจับตาสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงการประชุมนโยบายการเงินของเฟด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้านี้เคลื่อนไหวในแดนลบ โดยถูกกดดันจากตลาดหุ้นสหรัฐที่ร่วงลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ก.ค.65) ขณะที่นักลงทุนจับตาสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 26-27 ก.ค.65

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 27,697.77 จุด ลดลง 216.89 จุด หรือ -0.77%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 20,516.34 จุด ลดลง 92.80 จุด หรือ -0.45% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,269.71 จุด ลดลง 0.26 จุด หรือ -0.008%

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนผิดหวังกับการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทสแนป ขณะที่การปรับตัวลงของหุ้นโซเชียลมีเดียและหุ้นเทคโนโลยีการโฆษณา (AdTech) ได้บดบังปัจจัยบวกจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรสซึ่งคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการที่สดใส

โดยหุ้นสแนป เจ้าของแอปพลิเคชันสแนปแชต ร่วงลงเกือบ 40% หลังเปิดเผยการขยายตัวของยอดขายอ่อนแอที่สุดในรายไตรมาส แต่หุ้นทวิตเตอร์ฟื้นตัวจากการติดลบ และบวกขึ้น 0.8% หลังเปิดเผยรายได้ลดลงเกินคาด

ขณะเดียวกัน ตลาดยังจับตาการประชุมของเฟดในสัปดาห์นี้ โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 77.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งนี้ และให้น้ำหนักเพียง 22.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

โดยก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนักถึง 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค.65 และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ซึ่งรวมถึงนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้ว่าองค์กรระดับโลกซึ่งได้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ออกรายงานเตือนว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เปิดเผยในวันศุกร์นั้น เอสแอนด์พี โกลบอลรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.5 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 52.3 ในเดือนมิ.ย.

ส่วนดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 63 โดยถูกกดดันจากภาวะหดตัวในภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 63

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 52.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 24 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือนมิ.ย. และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 47.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือนมิ.ย.

Back to top button