นักวิชาการ แนะไทย “ไม่เลือกข้าง” ปม “เพโลซี” เยือนไต้หวัน ทำลายความสัมพันธ์ “จีน-สหรัฐ”

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะไทยว่าท่าทีไม่เลือกข้าง ปม "เพโลซี" เยือนไต้หวัน พร้อมระบุสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปตลอดกาล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน ทำให้ประเทศจีนหวั่นว่าจะกลายเป็นการบ่อนทำลายรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และเป็นการรุกล้ำอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศจีนอย่างร้ายแรง และสหรัฐฯ ต้องรับผิดชอบผลที่ตามมานั้น

ล่าสุด รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ได้รับทุนการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว “Piti Srisangnam” กล่าวถึงเหตุการณ์ นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน ชี้ ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เปลี่ยนไปตลอดกาล

โดยได้ระบุข้อความว่า “ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน จะต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล Status quo ที่สหรัฐคิดแบบ Strategic Ambiguity และจีนคิดแบบ Strategic Patience จนเราได้เห็นสันติภาพแบบมีกระทบกระทั่งกันบ้างตลอดมา แต่ก็สามารถทำการค้าการลงทุนระหว่างกันได้ ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 นั้น กำลังจะเปลี่ยนไป  เนื่องจากการเดินทางเยือนไต้หวันของนางเพโลซี คือการ ทำลายล้างรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน และเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดต่อกองกำลังแบ่งแยกดินแดนไต้หวัน

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ประนาม โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการกลางสภาประชาชนจีน คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าด้วยกิจการไต้หวัน คณะกรรมการกิจการต่างประเทศของสภาที่ปรึกษาทางการเมือง

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้เรียก เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่งเข้าพบ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการเยือนไต้หวันของนางเพโลซี และกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งเลวร้ายมากและผลที่ตามมานั้นร้ายแรงมาก ฝ่ายจีนจะไม่นั่งเฉยๆ เห็นได้จากที่กระทรวงกลาโหมจีน เตรียมการซ้อมรบด้วยอาวุธจริง 6 จุด รอบเกาะไต้หวัน ตลอด 4-7 สิงหาคม ในขณะที่ชาวจีนจำนวนมาก ก็นำเอาคำกล่าวที่ว่า ทั่วทั้งโลกมีเพียงจีนเดียว โดยมีแผนที่เกาะไต้หวันอยู่ตรงใจกลางของคำว่า ประเทศจีน

รศ.ดร.ปิติ ยังแนะว่า สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือ รักษาจุดยืน ไม่เลือกข้าง ไม่ว่าจะเป็น ข้างจีน ข้างสหรัฐ หรือข้างไต้หวัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทย พร้อมขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย และหากเกิดปัญหารุนแรง ไทยเองก็จะสูญเสียในหลายมิติ

Back to top button