เปิดโผหุ้น “ได้-เสีย” ราคาสินค้าโลหะขาลง

ภาวะสินค้ากลุ่มโลหะปรับตัวลงต่อเนื่อง ฟากโบรกประเมินหุ้นได้ประโยชน์ ได้แก่ KCE-CBG- SAT-CK ส่วนหุ้นเสียประโยชน์ ได้แก่ GLOBAL-DOHOME


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ประเภทโลหะได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยราคาโลหะหลายประเภท ได้แก่ aluminum, copper และ iron ore ที่มีการทำจุดสูงสุดในช่วงประมาณเดือนมีนาคม 2565 แล้วได้ปรับตัวลงมาต่อเนื่องจากจุดสูงสุดจนถึงปัจจุบัน (3 สิงหาคม 2565) ราคาอลูมิเนียม (aluminum) ลดลง 35%, ราคาทองแดง (copper) ลดลง 40% และ ราคาเหล็ก (iron ore) ลดลง 26% จาก 3 ปัจจัยหลักดังนี้

1.ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐฯแล้วกว่า 50 ประเทศ ส่งผลให้มีการ revised down การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันทาง world bank มองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะเติบโตลดลงเหลือ 3% ลดลง 1.2% เทียบกับประมาณการครั้งก่อนหน้า

2.China zero covid policy นโยบายเกี่ยวกับโควิด-19 ของประเทศจีนยังเป็นปัจจัยหลักกดดันการเติบโตของประเทศจีน โดยล่าสุดทางการจีนได้ออกมายอมรับแล้วว่าจะ GDP ปี 2565 จะไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้แต่แรกที่ 5.5% โดย world bank คาดว่าจีนจะเติบโตได้ 4.3%

3.Russia-Ukraine war สถานการณ์สงครามเริ่มชัดเจนว่าเป็นการรบกันในพื้นที่จำกัด ทำให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ลดน้อยลงไป รวมถึงสภานการณ์เริ่มดีขึ้นในบางส่วนเช่นรัสเซียอนุญาตให้ยูเครนสามารถส่งออกสินค้าผ่านทะเล black sea ได้แล้ว รวมถึงรัสเซียมีการขายน้ำมันไปยังประเทศอื่นมากขึ้นได้แก่จีนและอินเดีย ทำให้ลดความตึงตัวด้านอุปทาน ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่นปรับลดลงไปด้วย อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาเกิดแรงเข้ามาเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์จากธีมการลงทุนการป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ

โดยผลดังกล่าวทำให้ บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) มองว่า แนวโน้มราคาสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มโลหะนั้นได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และจะมั่นคงรวมถึงมีความเสี่ยงด้านลบ ซึ่งจะส่งผลดีต่อด้านต้นทุนของผู้ผลิตในหลายภาคอุตสาหกรรม จาก 4 ปัจจัยดังนี้

1.เศรษฐกิจโลกยังมี downside risk โดยมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังมีโอกาสถูกปรับคาดการณ์ลงอีกจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะจากฝั่งของ US ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ 3.5%-4% ซึ่งยังเหลือ room ให้ขึ้นได้อีกประมาณ 1% โดยที่ผ่านมามีการปรับลดคาดการณ์ GDP อย่างต่อเนื่องหลังจากผลกระทบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งได้เห็นการเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคของเศรษฐกิจสหรัฐฯไปแล้ว รวมถึงรายงาน GDP ไตรมาสล่าสุดปัจจัยที่หดตัวแรงมาจาก private investment และ durable goods consumption แสดงให้เห็นถึงความกังวลเศรษฐกิจในอนาคต

2.เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงมากขึ้น ทางรัฐบาลจีนเริ่มกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้นและเริ่มเห็นปัญหาในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาธนาคารขนาดเล็กของจีนบางแห่งเริ่มมีปัญหา liquidity และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนก็เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ

3.ราคาพลังงานปรับตัวลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ได้ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดมาประมาณ 20% ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตัวอื่นปรับลดลงไปด้วย เนื่องจากราคาพลังงานเป็นต้นทุนแฝงในสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นอย่างมีนัยยะ

4.สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนมีโอกาสดีขึ้น เรามองว่าสถานการณ์สงครามไม่น่าจะหนักไปกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน และมีโอกาสดีขึ้น ซึ่งถ้าหากสงครามเริ่มคลี่คลายจะลดความกดดันของสินค้า commodities ลงได้ โดยรัสเซียเป็นผู้ส่งออกหลักทั้งส่วนของพลังงาน และแร่สำคัญๆได้แก่ aluminum, palladium และ pig iron

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลข้างต้นทางฝ่ายวิจัยจึงมองว่าหุ้นที่น่าสนใจในภาวะที่สินค้ากลุ่มโลหะปรับตัวลงมีทั้งได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ดังนี้

สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากสินค้าโลหะปรับตัวลง ได้แก่ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 80 บาท ซึ่งได้ประโยชน์โดยเฉพาะจากราคาทองแดงที่ปรับตัวลง เนื่องจากต้นทุนทองแดงเป็นต้นทุนวัตถุดิบหลักคิดเป็นประมาณ 15% ของต้นทุนการขาย โดยหากราคาทองแดงปรับตัวลง 10% จะส่งผลให้ gross margin เพิ่มขึ้นประมาณ 1.5% โดยในช่วงที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยของ gross margin KCE อยู่ที่ประมาณ 25% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 gross margin มีโอกาสไปอยู่ในระดับ 27-30% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา KCE ได้มีการปรับขึ้นราคาขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และในช่วงหลังบริษัทได้มีการเพิ่มฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นอย่างต่อเนื่อง และลดการพึ่งพารายได้กลุ่ม automotive ลงเรื่อยๆทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานน้อยลง

บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 126 บาท ซึ่งได้ประโยชน์จากราคาอลูมิเนียมที่ปรับตัวลดลงโดยราคาอลูมิเนียมลงมา 35% จากจุดสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม 2565 โดยต้นทุนอลูมิเนียมมี

สัดส่วนอยู่ประมาณ 20% ของต้นทุนวัตถุดิบรวม ทั้งนี้ทุกๆ 100 ดอลลาร์ต่อตันของราคาอลูมิเนียมที่ลดลงจะเพิ่ม gpm ของ overseas branded own ที่ 1% (สัดส่วนรายได้ overseas branded own อยู่ที่ 35% ของรายได้รวมปี 2565) หรือจะเพิ่ม GPM รวมที่ 0.3%

โดยมองว่าผลประกอบการครึ่งหลังของปี 2565 จะขยายตัวโดดเด่นจากงวดเดียวกันของปีก่อน และจากครึ่งปีแรก จาก market share ที่เพิ่มขึ้น และ GPM ขยายตัวจากต้นทุนอลูมิเนียม และพลังงานที่ปรับตัวลดลง

บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 22.50 บาท ซึ่งมีต้นทุนเหล็กคิดเป็นสัดส่วน 40% ของ COGS โดยวัตถุดิบเหล็กที่ใช้จะเป็นเหล็กเกรดพิเศษและมีการทำสัญญาซื้อล่วงหน้าตามคาสั่งซื้อที่จะเกิดขึ้น ทำให้ต้นทุนเหล็กจะไม่ผันผวนมากนัก โดยปกติจะมีผลกระทบต่อ GPM โดยบวก-ลบไม่เกิน 2%

บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 25.60 บาท สำหรับผู้ประกอบการรับเหมาขนาดใหญ่ ต้นทุนเหล็กคิดเป็นสัดส่วน 3-5% ขณะที่รับเหมาขนาดเล็กราว 10% ของต้นทุนรวม และ CK ยังมีตัวเร่งจะมีโครงการหลวงพระบาง ที่คาดว่าสัญญา EPC จะได้ข้อสรุปในครึ่งหลังของปี 2565

ขณะที่หุ้นคาดว่าเสียประโยชน์จากสินค้าโลหะปรับตัวลง อย่าง บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 23.00 บาท) และ บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 15.30 บาท เนื่องจากต้นทุนเหล็กคิดเป็นประมาณ 15% แต่ไม่ได้ stock เหล็กไว้เยอะ ทำให้สามารถบวก margin ได้โดยตรง ส่วน private brand ที่วัตถุดิบหลักเป็นเหล็กมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยโดยน้อยกว่า 1% ที่จะกระทบเป็นหลักจะเป็นตัว finish goods ที่วัตถุดิบหลักเป็นเหล็กแต่มองว่าราคาสินค้ายังมีผันผวนน้อยกว่าเหล็กมาก และส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ inventory days ต่ำ

Back to top button