เช็กหุ้น “ได้-เสีย” ขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” 5-8%

เช็กหุ้น “ได้-เสีย” ประโยชน์ กระทรวงแรงงานเตรียมพิจารณาปรับขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ทั่วประเทศ 5-8% ช่วงเดือน ส.ค.65 คาดมีผลบังคับใช้ ม.ค.66 โบรกมองบวกหุ้นกลุ่มการเงิน เพิ่มศักยภาพการชำระหนี้ ประเมินกระทบกำไรหุ้นกลุ่มผู้ผลิต เหตุใช้แรงงานสูง


บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ (8 ส.ค.65) จากกรณีกระทรวงแรงงานเตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5%-8% ทั่วประเทศ จากปัจจุบัน 313 – 336 บาท/วัน ในช่วง ส.ค. 65 และให้เริ่มมีผล ม.ค. 66 มีผลต่อในด้านต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เป็นระดับที่น้อยกว่าช่วงก่อนหน้า ที่คาดกันปรับขึ้นระดับ 30-50%

สำหรับหุ้นในกลุ่ม Mid Small cap ที่รับผลบวกจะอยู่ในกลุ่ม Financing, เครื่องดื่มชูกาลัง ที่รายได้อิงฐานลูกค้าอยู่ในเกณฑ์ปรับค่าแรง ขณะที่ ต้นทุนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก รวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ (Digital tech consult) ขณะที่ เป็นลบเล็กน้อยต่อกาไรปี 66 ราว 1-3% ต่อกลุ่มผู้ผลิต

โดยกลุ่มเช่าซื้อไม่กระทบโครงสร้างต้นทุน และเป็นผลบวกต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ มองบวกต่อบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ราคาเป้าหมาย 58 บาท ในแง่ NPL ที่ลดลง โดย Credit Cost ที่ลดลงทุกๆ 100bps (1%) จะส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิปี 65 เติบโต 10% และมองบวกต่อหุ้นกลุ่ม AMC ที่เน้นหนี้ Unsecured อย่างบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ราคาเป้าหมาย 105 บาท และบริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO

รวมทั้งกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง ได้แก่ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ราคาเป้าหมาย 118 บาท เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่ใช้แรงงานในการผลิต โดยมีสัดส่วนค่าแรงขั้นต่ำราว 1.6% ของต้นทุนรวม ซึ่งมีผลลบต่อกำไรปี 66 ราว 0.4% แต่ทั้งนี้มองการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นผลบวกต่อบริษัทฯ เนื่องจากจะส่งผลให้กำลังซื้อของคนทำงานที่บริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังสูงขึ้นชดเชยปัจจัยลบด้านต้นทุนได้ในภาวะที่บริษัทกำลังเพิ่ม Market share และต้นทุนที่ปรับลงด้วย

ส่วนกลุ่ม Digital tech consult แม้ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรจะเป็นค่าใช้จ่ายหลักของอุตสาหกรรมนี้ แต่ด้วยฐานเงินเดือนพนักงานที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำมาก (เงินเดือนเฉลี่ยมากกว่า 6 หมื่นบาท) บริษัทในกลุ่มอย่างบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ราคาเป้าหมาย 106 บาท, บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8 ราคาเป้าหมาย 70 บาท, บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ IIG ราคาเป้าหมาย 52 บาท จึงไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้

ขณะที่มองว่ากลุ่มผู้ผลิตจะกระทบมากสุด คือ ร้านอาหาร อย่าง บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ที่สัดส่วนค่าแรงขั้นต่ำราว 11% ของต้นทุนรวม มีผลลบต่อกำไรปี 66 ราว 11% รองลงมา คือ กลุ่มผู้ผลิตที่ใช้แรงงานสูง ได้แก่ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ ASIAN  และมี Lag time ในการปรับราคาราว 3-6 เดือน เบื้องต้นมีผลต่อกำไรปี 66 ราว 6% บนสมมติฐาน Lag time 6 เดือน และกลุ่มสุดท้าย มีผลกระทบเชิงลบต่อกำไรปี 66 ราว 1-3% ในกลุ่มผู้ผลิต, ค้าปลีก (ตามตารางด้านล่าง) บนสมมติฐาน ปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น 7% ต้นปี 66

หุ้น % สัดส่วนต้นทุน จำนวนแรงงาน คาดการณ์กำไรสุทธิปี 66 ผลกระทบต่อกำไร หมายเหตุ
ZEN 11% 1,900 119 -11%
ASIAN 20% 5,000 1201 -6% คาดสามารถผลักภาระให้ลูกค้าได้ โดยอาจมี lag time ประมาณ 3-6 เดือน (Assumption เราคิดบน worst case ที่ 6 เดือน)
BGC 3% 2,400 555 -3%
TNP 4% 750 172 -3%
SNNP 9% 2,000 556 -3% บริษัทมีการเตรียมการโดยเพิ่มเครื่องจักรแทนคน 20% ใส่ลงไปในประมาณการแล้ว
SNC 2% 3,100 828 -3%
MC 12% 1,900 570 -3%
HTC 3% 1,560 615 -2%
TOA 4% 2,000 2089 -2%
SFT 4% 252 134 -2%
SPA 4% 241 162 -1%
PYLON 4% 400 262 -1% impact 6 month
SAPPE 2% 400 640 -1%
XO 5% 330 429 -1%
JUBILE 3% 266 356 -1%
CBG 2% 2,000 3682 0%
ICHI 1% 250 531 -0.40%
SABINA 11% 2,700 443 2.90% ค่าแรงเพิ่มน้อยกว่าประมาณการที่กำหนดเพิ่ม 15%

*แหล่งที่มา : IRIS Division – Capital Nomura Securities

สอดคล้องกับบล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ (8 ส.ค.65) ว่า จากกระทรวงแรงงานเตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8% ทั่วประเทศในช่วงเดือน ส.ค.65  ไม่เกินก.ย.65 คาดจะมีผลช่วงเดือนม.ค.66 ผลจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อหุ้นแต่ละ Sector โดยประเมินเป็นบวกต่อ กลุ่มการเงิน โดยประเมินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ชื่นชอบหุ้นบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC , บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR, บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH

รวมถึงบริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ASK, บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO, บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER, บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5% จะเพิ่มความ Upside ต่อ Headline Inflation CPI ที่บล.กสิกรไทย คาด 0.15% คาดจะหนุนให้ กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันบล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า มองเป็นบวกเล็กน้อยต่อกลุ่ม Finance จากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น มีโอกาสเป็น NPL ที่ต่ำลง โดยมองบวกต่อหุ้น MTC แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 50 บาท, SAWAD แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 53 บาท และ TIDLOR แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 38 บาท จากฐานลูกค้าที่มีรายได้ไม่ประจำสูง

รวมทั้งกลุ่ม AMC เช่น JMT แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 100 บาท, CHAYO แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 14 บาท และ TH แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 8 บาท จากลูกหนี้ unsecured loan ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีค่างวดชำระที่ต่ำ ทั้งนี้หุ้นในกลุ่ม Finance คงคำแนะนำ “Overweight” จากแนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งหลังปี 65 ที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน และเมื่อเทียบจากครึ่งปีแรกของปี 65 ตามสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และการเข้าซื้อหนี้เสียที่จะสูงขึ้นเป็นปกติตามฤดูกาล

ขณะที่มองเป็นลบเล็กน้อยต่อกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยอัตราการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวไม่ได้สูงมากเท่าที่แรงงานมีการเรียกร้องและค่อนข้างใกล้เคียงกับที่เราคาด ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มรับเหมา เรามองว่าบริษัทที่มีสัดส่วน direct labor จำนวนมากจะได้รับผลกระทบมากสุด นำโดยบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC, บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO, และบริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON

โดยประเมินเบื้องต้นค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5% จะกระทบกำไรบริษัทเหล่านี้ 8 ถึง 15% ด้านบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK กระทบน้อยสุดราว 6% เนื่องจากมีสัดส่วน subcontract สูงถึง 70% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้รับเหมาเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นงานที่มีการใช้ skill เฉพาะ และมีการจ่ายค่าจ้างที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำทั่วไป ทำให้ผลกระทบอาจไม่ได้มากเท่าที่เราประเมิน นอกจากนี้ หากอิงจากข้อมูลช่วงที่มีการปรับขึ้นค่าแรงในอดีต ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานกลุ่มรับเหมาอย่างมีนัย

Back to top button