สแกนงบเครือ “ปตท.” กวาดกำไร Q2 เฉียดแสนล้าน! TOP แรงเกินคาดโต 10 เท่าตัว

สแกนงบไตรมาส 2/65 เครือ “ปตท.” กวาดกำไรรวม 9.7 หมื่นลบ.! TOP ดีเกินคาดโต 10 เท่าตัว ทะลุ 2.5 หมื่นลบ. PTTEP-OR พุ่งแรงเกินเท่าตัว ส่วน PTT โกย 3.88 หมื่นลบ. โตกระฉูด 58%


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมผลประกอบการงวดไตรมาส 2/65 ของบริษัทในเครือ “ปตท.” รวม 7 บริษัท ซึ่งได้รายงานตัวเลขกำไรออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ดังนี้

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT เปิดเผยว่า ในครึ่งปีแรก ปตท. และบริษัทในกลุ่มทั้งในและต่างประเทศมีกำไรสุทธิจำนวน 64,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,253 ล้านบาท หรือ 12.7% จากครึ่งแรกปี 2564 ที่จำนวน 57,166 ล้านบาท ตาม EBITDA ที่เพิ่มสูงขึ้น โดย ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 325,469 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 109,306 ล้านบาท หรือ 50.6% จาก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่จำนวน 216,163 ล้านบาท

โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่เพิ่มขึ้นซึ่งธุรกิจการกลั่นมีผลการดำเนินงานดีขึ้นจาก Market GRM ที่เพิ่มขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน รวมถึงมีปริมาณขายและกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้กำไรสต็อกน้ำมันของกลุ่ม ปตท. เพิ่มขึ้นประมาณ 19,000 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในขณะที่ผลการดำเนินงานของธุรกิจปิโตรเคมีปรับตัวลดลงทั้งจากผลการดำเนินงานของกลุ่มโอเลฟินส์ และกลุ่มอะโรเมติกส์เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณขายที่ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงปิโตรเคมีในครึ่งแรกปี 65

ขณะที่กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและธุรกิจถ่านหินมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามราคาขายเฉลี่ย และปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกและกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19

นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการ แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ PTTEP เปิดเผยว่า บริษัทคาดปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในไตรมาส 3/65 เติบโตมาอยู่ที่ระดับ 481,000 บาร์เรลต่อวัน จากไตรมาส 2/65 ที่อยู่ที่ 465,459 บาร์เรลต่อวัน

ขณะเดียวกันคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังปริมาณการขายและราคาขายปิโตรเลียมจะสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณการขายเฉลี่ยทั้งปี 65 จะอยู่ที่ 465,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการฟื้นตัว และมีกำลังการผลิตของโครงการใหม่ที่เริ่มรับรู้เข้ามา เช่น โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ), โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ และโครงการมาเลเซีย แปลงเอช และโครงการโอมาน แปลง 61 ที่รับรู้ยอดขายเต็มปีเป็นปีแรก

ขณะที่คาดราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงไตรมาส 3/65 และทั้งปี 65 จะอยู่ที่ระดับ 6.4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยจะเพิ่มขึ้นมาทำระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 4/65 เนื่องจากเป็นรอบการปรับราคาของสัญญาในอ่าวไทยในหลายโครงการ ซึ่งได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้

ด้านราคาน้ำมันในตลาดโลก PTTEP คาดว่าจะเคลื่อนไหวในช่วง 90-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง หรืออาจแตะระดับ 101 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่มีปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันในครึ่งปีหลังจากยกเลิกการคว่ำบาตรต่อประเทศอิหร่าน และการปล่อยน้ำมันดิบจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของหลายประเทศ เป็นต้น

ส่วนต้นทุนเฉลี่ยคาดมีแนวโน้มสูงขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ หรืออยู่ที่ประมาณ 29-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากรายจ่ายค่าภาคหลวงต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นตามราคาขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 ที่บริษัทเพิ่งเข้าเป็นผู้ดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในไตรมาส 2/65

นางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี PTTGC เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาส 2/65 บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 196,397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน ขณะที่กำไรสุทธิไตรมาส 2/65 อยู่ที่ 1,388 ล้านบาท ลดลง 94% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และลดลง 67% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 371,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 5,600 ล้านบาท ลดลง 84% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

โดยรายได้จากการขายรวมปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านอุปทานที่ตึงตัวจากการหยุดซ่อมบำรุงและการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตบางรายในภูมิภาค เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ไม่คุ้มค่าในการผลิต

อย่างไรก็ตามปริมาณขายรวมของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับลดลงในไตรมาสนี้ เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 3 โรงอะโรเมติกส์หน่วยที่ 1 รวมถึงโรง LDPE และ LLDPE โดยบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ (ไม่รวมผลกำไรจากสต๊อกน้ำมันและรายการขาดทุนจากรายการมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ผลขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนและกำไรจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน ผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง รายการพิเศษอื่นๆ) อยู่ที่ 13,703 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งจากไตรมาส 1/2565 และไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 120% และ 31% ตามลำดับ

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TOP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/65 ปรับดีขึ้นหลังความต้องการใช้น้ำมันในประเทศฟื้นตัวและค่าการกลั่นที่ปรับสูงขึ้นชั่วคราวจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดตึงตัว ส่วนครึ่งปีหลังยังต้องติดตามราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีความผันผวนสูง ในขณะที่ค่าการกลั่นเริ่มปรับลดลงสู่ระดับปกติ เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานปรับสู่สมดุล ส่งผลให้สต๊อกน้ำมันเบนซินทยอยปรับสู่ระดับปกติ

ในไตรมาส 2 /65 มีรายได้จากการขาย 143,892 ล้านบาท ขณะที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ไทยออยล์บันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 7,557 ล้านบาท มีการบันทึกขาดทุนจากการเข้าทำสัญญาบริหารความเสี่ยง 12,626 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 25,327 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 2,123 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไทยออยล์ได้บันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นของ GPSC ในไตรมาส 2/65 จำนวน 12,880 ล้านบาท (หลังหักภาษี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว เพื่อนำไปชำระเงินกู้ยืมระยะสั้น (Birding Loan) สำหรับการเข้าลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีที่ประเทศอินโดนีเซีย

ส่วนภาพรวมธุรกิจการกลั่นในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูง จากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้น จึงต้องติดตามสถานการณ์และราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ ไทยออยล์เร่งเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจตามแผนการลงทุนที่วางไว้ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการต่อยอดไปยังธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ได้แก่ การลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) และ การลงทุนในธุรกิจโอเลฟินที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค และ แสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต เพื่อลดความผันผวนจากอุตสาหกรรมพลังงาน และนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน

นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน GPSC เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/65 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 27,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 18,234 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 27,261 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิสำหรับงวดไตรมาส 2/65 อยู่ที่ 684 ล้านบาท ลดลง 70% จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2,302 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 118% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 313 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 54,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 997 ล้านบาท ลดลง 77% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรสุทธิของบริษัทในไตรมาส 2/65 ที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุหลักมาจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อย

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/65 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 99,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22,787 ล้านบาท หรือ 30% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 26% ตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น และปริมาณขายเพิ่มขึ้น 4%

โดยมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 12,562 ล้านบาท (20.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้น 8,457 ล้านบาท หรือ 206% มีสาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันดิบ (Crude Premium) ปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM)  จำนวน 11,264 ล้านบาท หรือ 18.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 14% ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/65 มีกำไรสุทธิ 3,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 155% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/65 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64 ที่มีกำไรสุทธิ 4,574 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 IRPC มีรายได้จากการขายสุทธิจำนวน 176,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 65% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และปริมาณขายเพิ่มขึ้น 2% โดยมี Market GIM อยู่ที่ 16,667 ล้านบาท (13.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้น 6%

Back to top button