สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 ส.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 ส.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (23 ส.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งรวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการที่หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล ในสัปดาห์นี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,909.59 จุด ลดลง 154.02 จุด หรือ -0.47%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,128.73 จุด ลดลง 9.26 จุด หรือ -0.22% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,381.30 จุด ลดลง 0.27 จุด หรือ -0.00%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันอังคาร (23 ส.ค.) โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น และแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หลังจากข้อมูลบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคหดตัวลงในเดือนนี้

ทั้งนี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 431.35 จุด ลดลง 1.82 จุด หรือ -0.42%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,362.02 จุด ลดลง 16.72 จุด หรือ -0.26%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,194.23 จุด ลดลง 36.34 จุด หรือ -0.27% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,488.11 จุด ลดลง 45.68 จุด หรือ -0.61%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงในวันอังคาร (23 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับวิกฤตก๊าซในยุโรป และข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจที่ชะลอตัวลงเกินคาดทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ การที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นได้ถ่วงหุ้นกลุ่มส่งออกลดลง

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,488.11 จุด ลดลง 45.68 จุด หรือ -0.61%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 4% ในวันอังคาร (23 ส.ค.) หลังจากซาอุดีอาระเบียเสนอให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน ในกรณีที่น้ำมันดิบจากอิหร่านหวนคืนสู่ตลาด นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐจะปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. พุ่งขึ้น 3.38 ดอลลาร์ หรือ 3.7% ปิดที่ 93.74 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 3.74 ดอลลาร์ หรือ 3.9% ปิดที่ 100.22 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (23 ส.ค.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐช่วยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 12.8 ดอลลาร์ หรือ 0.73% ปิดที่ 1,761.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 14.8 เซนต์ หรือ 0.78% ปิดที่ 19.026 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 8.4 ดอลลาร์ หรือ 0.97% ปิดที่ 876.4 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 8.90 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,972.90 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (23 ส.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอความแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.39% แตะที่ระดับ 108.6240

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 136.85 เยน จากระดับ 137.50 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2964 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3051 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9647 ฟรังก์ จากระดับ 0.9646 ฟรังก์

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 0.9963 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9935 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.1818 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1753 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6922 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6872 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button