KBANK คาดกรอบ “เงินบาท” สัปดาห์หน้า 35.50-36.30 จับตาฟันด์โฟลว์-ตัวเลขเศรษฐกิจ

KBANK คาดกรอบ “เงินบาท” ในสัปดาห์หน้า (29 ส.ค.-2 ก.ย.) ไว้ที่ระดับ 35.50-36.30 บาท/ดอลลาร์ แนะติดตามฟันด์โฟลว์-ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค.ของไทยและต่างประเทศ


ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (29 ส.ค.-2 ก.ย.) ไว้ที่ระดับ 35.50-36.30 บาท/ดอลลาร์ โดยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินทุนต่างชาติ (FLOW) และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ค.ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP และ PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนส.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนก.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและอัตราเงินเฟ้อ (เบื้องต้น) เดือนส.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค.ของจีนด้วยเช่นกัน

โดยเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวนระหว่างรอถ้อยแถลงของประธานเฟด ทั้งนี้เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบประมาณ 3 สัปดาห์ที่ 36.33 บาท/ดอลลาร์ในช่วงแรกท่ามกลางทิศทางที่อ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียและเงินหยวน หลังจากธนาคารกลางจีนเพิ่มการผ่อนคลายทางการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ลงเพื่อบรรเทาแรงกดดันในตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจีนในภาพรวม นอกจากนี้เงินดอลลาร์ขยับขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งอาจจะมากกว่า 50 bps. ในการประชุมเดือนก.ย.

ทั้งนี้เงินบาทแข็งค่าช่วงสั้นๆ ระหว่างสัปดาห์ หลังข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนส.ค. และยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด กดดันเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole

ในวันศุกร์ที่ 26 ส.ค.65 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับ 35.67 บาท/ดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 ส.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 22-26 ส.ค.นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องอีก 9,349 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 6,355 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 755 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 5,600 ล้านบาท)

Back to top button