“สธ.” ปรับลดระดับศูนย์ “EOC” โรคฝีดาษลิง หลังแนวโน้มผู้ป่วยลง

“สธ.” ปรับลดระดับศูนย์ EOC โรคฝีดาษลิง จากระดับกระทรวงกลับมาเป็นระดับกรมตามเดิม หลังแนวโน้มผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจน


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังมีรายงานการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkey pox) กรมควบคุมโรคได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง เพื่อเฝ้าระวังในระดับกรม ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ค. 65

โดยต่อมาเมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการประชุมเพื่อเตรียมแนวทางตอบโต้ต่อสถานการณ์ และยกระดับศูนย์ EOC เป็นระดับกระทรวง ทำให้การสั่งการเฝ้าระวังมีความครอบคลุมทั่วประเทศ

ทั้งนี้ จากการติดตามเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง พบว่า สถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน จากที่เคยสูงสุดช่วงเดือนส.ค.65 ประมาณ 1,000 รายต่อวัน ขณะนี้เหลือเฉลี่ย 580 รายต่อวัน

สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยฝีดาษลิงรวม 8 ราย ในระยะเวลา 4 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 2 ราย ส่วนใหญ่มีประวัติเปลี่ยนคู่นอนหลายคน โดย 3 ใน 7 ราย มีประวัติแสดงอาการก่อนเดินทางกลับมาที่ประเทศไทย

สำหรับปัจจัยการติดต่อหลัก คือ การสัมผัสใกล้ชิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ WHO และจากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ยังไม่พบการแพร่เชื้อต่อแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าโรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้น ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จึงเสนอปรับลดระดับศูนย์ EOC โรคฝีดาษลิงจากระดับกระทรวงกลับมาเป็นระดับกรมตามเดิม

แม้จะลดระดับศูนย์ EOC มาเป็นระดับกรม แต่โรคฝีดาษลิงยังเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนั้น เมื่อพบผู้ป่วยต้องสงสัยยังต้องรายงานและมีการสอบสวนโรค ซึ่งจากการวิเคราะห์จำนวนการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่ามีผู้ป่วยที่ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่ไม่ได้มีการรายงานการสอบสวนโรคมาที่กรมควบคุมโรค จึงขอให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ รายงานกรณีพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของการติดตามสถานการณ์โรคต่อไป” นายแพทย์โอภาส กล่าว

ส่วนของการป้องกันโรคฝีดาษลิง ให้เลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย ให้สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน หรือคนแปลกหน้า หากมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว, เป็นตุ่มนูน, ตุ่มน้ำใส, ตุ่มหนอง, ตุ่มตกสะเก็ด, หลังจากมีไข้, เจ็บคอ, ปวดหัว, ปวดกล้ามเนื้อ, และต่อมน้ำเหลืองโต สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านได้ทันที

Back to top button