เช็ก 15 หุ้น “ได้-เสีย” เทศกาลกินเจ

เช็คลิสต์ 15 หุ้น “ได้-เสีย” ประโยชน์จากเทศกาลกินเจปี 65 ช่วง 25 ก.ย.-4 ต.ค.65 จับตาบรรยากาศคึกคักหลังโควิด-19 คลี่คลาย-การบริโภคฟื้นตัว


ใกล้เข้าสู่เทศกาลกินเจปี 2565 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 25 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 โดยคาดว่าบรรยากาศเทศกาลปีนี้จะคึกคักมากกว่าปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจและการบริโภคที่ฟื้นตัวขึ้น รวมถึงคนทั่วไปได้ให้ความสนใจเข้าร่วมเทศกาลโดยเล็งเห็นถึงประโยชน์ทางด้านสุขภาพ

ประกอบกับความสะดวกในการหาซื้ออาหารเจที่หาซื้อได้ง่ายกว่าอดีต จากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในตลาดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการดัดแปลงอาหารเจให้มีความหลากหลายน่ารับประทาน ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 90.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.0 ในเดือนก.ค. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยในประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้นและภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากความต้องสินค้าภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศดังกล่าวทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมหุ้นที่คาดการณ์ว่าจะได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเทศกาลกินเจมานำเสนอ ประกอบด้วย TVO, LST, KASET, TMILL, MALEE, TIPCO, CPALL, TWPC, MAKRO, RBF และ NRF เป็นต้น

บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลือง ตราองุ่น และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ กากถั่วเหลือง, ดีฮัล ซอยมีล, ฟูลแฟตซอย, ดีฮัล ฟูลแฟตซอย รวมทั้ง เลซิติน ซอยฮัล น้ำมันข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน น้ำมันคาโนลา และน้ำมันมะกอก

บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ LST  ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช ไขมันพืชผสม และเนยเทียม ผักและผลไม้แช่แข็งหรือบรรจุกระป๋อง น้ำผลไม้ กาแฟ เครื่องดื่มต่าง ๆ และซอสปรุงรส

บริษัท ไทยฮา จำกัด (มหาชน) หรือ KASET ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตร และเกษตรแปรรูป เช่น ข้าว วุ้นเส้น โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป และวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก

บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TMILL ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งสาลี ได้แก่ แป้งบะหมี่สด แป้งขนมปัง แป้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แป้งบิสกิต แป้งอเนกประสงค์ แป้งอาหารสัตว์ เป็นต้น ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเอง โดยเป็นการ spin off มาจาก TSTE

บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำแร่ธรรมชาติพร้อมดื่ม ภายใต้เครื่องหมายการค้าหลัก ออรา

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า   7-Eleven และให้สิทธิแก่ผู้ค้าปลีกรายอื่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และลงทุนในธุรกิจสนับสนุนธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ อาทิ ผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปและเบเกอรี่ ตัวแทนรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเองภายใต้ชื่อ “แม็คโคร”

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสด และบริการตนเอง ภายใต้ชื่อ “แม็คโคร” ในการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่ลูกค้าทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ได้แก่ กลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อย กลุ่มโฮเรก้า กลุ่มสถาบันต่าง ๆ และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจบริการ

บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) หรือ TWPC ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นและก๋วยเตี๋ยว เพื่อจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร (Food Ingredients) ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า และ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท เช่น อังเคิลบาร์นส์, เบสท์ โอเดอร์ และ super-find เป็นต้น

บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ซึ่งเป็นผู้ผลิตจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร อาหารมังสวิรัติที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช และเครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ

ด้านหุ้นที่คาดการณ์ว่าจะเสียผลประโยชน์จากเทศกาลกินเจ อาทิ CPF, TFG, GFPT, TU เป็นต้น

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ซึ่งเป็นประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่จำแนกธุรกิจหลักตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) ได้แก่ การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ 2) ธุรกิจเลี้ยงสัตว์-แปรรูป (Farm-Processing) ได้แก่ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า และการแปรรูปเนื้อสัตว์ขั้นพื้นฐาน 3) ธุรกิจอาหาร (Food) ได้แก่ การผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปกึ่งปรุงสุกและปรุงสุก และการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารพร้อมรับประทาน รวมถึงกิจการค้าปลีกอาหารและร้านอาหาร

บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG ซึ่งประกอบธุรกิจหลักเกี่ยวกับการผลิตไก่และจำหน่ายไก่สด แช่เย็นและแช่แข็งและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไก่ ผลิตและจำหน่ายสุกร และผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์

บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ซึ่งประกอบธุรกิจการเกษตรครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่ปู่ย่าพันธุ์ ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่พ่อแม่พันธุ์ ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ ธุรกิจชำแหละและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ โดยผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มบริษัท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ เนื้อไก่สด อาหารแปรรูปจากเนื้อไก่ และ อาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน รวมถึง อาหารสัตว์บก อาหารสัตว์น้ำ

โดยบล.ไทยพาณิชย์ คาดหุ้นที่ได้รับ Sentiment ลบจากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ อาทิ CPF GFPT ซึ่งปกติราคาหุ้นมักปรับตัวลงในช่วงดังกล่าว

ขณะเดียวกันบล.ฟินันเซียไซรัส ระบุในบทวิเคกลุ่มเนื้อสัตว์ ราคาหุ้น TFG ปรับตัวลง 7.4% และ GFPT ปรับตัวลง 3.6% แต่ยังไม่เห็นข่าวลบโดยราคาเนื้อสัตว์ทั้งหมูและไก่ยังคงยืนสูง และยังไม่มีข่าวเรื่องการคุมราคาขาย แต่หากจะมีปัจจัยด้าน Sentiment คือการเข้าใกล้ช่วงเทศกาลกินเจปลายเดือน ก.ย. และฝนที่ตกชุก รวมถึงหุ้นเบทาโกร (BTG) ที่กำลังจะเข้าตลาดฯ อาจทำให้มีการปรับพอร์ตระยะสั้น มองราคาหุ้นที่ปรับลงแนะนำเป็นจังหวะ “เก็งกำไร” โดยยังคงราคาเป้าหมาย TFG ที่ 8.50 บาทและ GFPT ที่ 17.50 บาท

Back to top button